Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 กรกฎาคม 2551

อุตสาหกรรม

ยอดขายรถจักรยานยนต์ครึ่งหลังปี 2551 อาจชะลอตัวลง(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2239)

คะแนนเฉลี่ย

จากการตอบรับที่ดีของตลาดผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วง 5 เดือนแรกมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2550 โดยคาดว่าเป็นผลมาจากปัจจัยหนุนหลัก 2 ด้าน คือ ผลผลิตสินค้าเกษตร และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีความผันผวนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน ประกอบกับรัฐบาลยังไม่มีทิศทางนโยบายพลังงานทางเลือกที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ประชาชนส่วนหนึ่งจึงหันไปซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งใช้เดินทางได้สะดวกในระยะใกล้ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายการเดินทางน้อยกว่า

ทว่าในช่วงต่อจากนี้ไปของปี 2551 อาจต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อของผู้บริโภคหลักที่ลดลงทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่อาจปรับตัวลดลง และภาระต้นทุนการผ่อนชำระที่สูงขึ้นจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เริ่มลดความรุนแรงลง ซึ่งอาจจะจะมีผลทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการตัดสินใจเลือกและเปรียบเทียบคุณสมบัติของยานพาหนะที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งานของตนมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ครึ่งหลังปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และส่งผลให้โดยรวมทั้งปี 2551 ยอดขายในประเทศมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 7.7

ในสภาวะเช่นนี้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จำเป็นจะต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนไปสู่แนวทาง การประหยัดพลังงานที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย เช่น การพัฒนาระบบเครื่องยนต์ให้มีการประหยัดมากขึ้นและสามารถใช้พลังงานทางเลือกเช่นแก๊สโซฮอล์ได้หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานผสมระหว่างน้ำมันกับพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานออกมา ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบรับที่ดีสำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ในอนาคตต่อไปได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม