Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กันยายน 2551

บริการ

การขนส่งสินค้าทางทะเล : แนวโน้มชะลอตัวในครึ่งปีหลังตามทิศทางการค้าโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2289)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะลจะชะลอตัวลงตามแนวโน้มการค้าและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอลง โดยคาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลในช่วงครึ่งหลังของปีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 10-15 ชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 20-25 อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมทั้งปี 2551 คาดว่าธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลจะมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น โดยปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลจะอยู่ที่ประมาณ 240-250 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 15-20 เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณ 211 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเติบโตอย่างสูงในช่วงครึ่งปีแรก จากอานิสงส์ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างสูง โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ปริมาณการส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ 13.8 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.9 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.9 อีกทั้งในช่วงครึ่งปีแรกค่าระวางเรือก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยดัชนี BDI (Baltic Dry Index) มีทิศทางสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก จากการเร่งนำเข้าวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรมจีนก่อนที่จะต้องปิดโรงงานเพื่อรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลอาจจะชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้าคาดว่าดัชนี BDI จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากความกังวลในอุปทานของเรือใหม่ที่อาจมีมากกว่าอุปสงค์ในตลาด ขณะที่ต้นทุนขนส่งคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สำหรับในประเด็นปัญหาและอุปสรรคของธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัญหาสำคัญในระยะสั้น ได้แก่ ปัญหาแนวโน้มดัชนี BDI มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าระวางเรือ ปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมประท้วงยุติการให้บริการท่าเรือ แต่อาจส่งผลเพียงระยะสั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองสามารถกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ส่วนปัญหาระยะยาว ได้แก่ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกในฝั่งทะเลอันดามันที่ยังขาดแคลนอยู่ รวมทั้งการเชื่อมโยงการขนส่งแบบ Multimodal ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการไทย ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากไทยยังไม่มีกองเรือแห่งชาติ รวมทั้งผู้ส่งออกนิยมขายสินค้าแบบ FOB (Free on Board) และผู้นำเข้านิยมซื้อสินค้าแบบ CIF (Cost, Insurance and Freight) และปัญหากฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินการส่งออกและนำเข้าที่ยังใช้ระยะเวลานาน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มต้นทุนโลจิสติกส์และเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งต่อการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางทะเล

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ