Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กันยายน 2551

บริการ

บริการเสียงเพลงรอสาย : รายได้สำคัญของธุรกิจมือถือ แนวโน้มเติบโตกว่า 15-20% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2297)

คะแนนเฉลี่ย

การเติบโตของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากในอดีต โดยปัจจุบันสัดส่วนจำนวนเลขหมายต่อจำนวนประชากร (Mobile Number Penetration Rate) อยู่ในระดับที่เข้าใกล้ร้อยละ 100 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเข้าใกล้จุดอิ่มตัวของตลาดเลขหมายใหม่ ประกอบกับภาวะการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นของผู้ให้บริการ ทำให้รายได้จากการโทรมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่มากนัก ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงต้องเร่งพัฒนาและแสวงหารายได้จากช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะรายได้จากบริการเสริม ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก บริการเสียงเพลงรอสาย (Ring Back Tone) ถือเป็นหนึ่งในบริการเสริมที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 20-25 ของรายได้จากบริการเสริมทั้งหมดของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นรองเพียงบริการส่งข้อความสั้น (Short Message Service: SMS) ที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 30-35 เท่านั้น โดยในปี 2550 มีจำนวนผู้ใช้บริการเสียงเพลงรอสายประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 56 ล้านเลขหมาย จำนวนการดาวน์โหลดเสียงเพลงรอสายประมาณ 4-4.5 ล้านเพลงต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 3,500 ล้านบาท (คิดเฉพาะรายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) โดยสาเหตุสำคัญของการเติบโตมาจากกระแสนิยมในบริการ ความชื่นชอบในเพลงและศิลปินนักร้อง ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ เช่น การปรับรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ใหม่ (Call Center Renovation) การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น (Partnership Marketing) การแข่งขันด้านราคา (Price Strategy) การนำศิลปินนักร้องมาโฆษณา (Brand Ambassador/Celebrities) เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการเสียงเพลงรอสายจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 4,000-4,200 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 15-20 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3,500 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 รวมทั้งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการเสียงเพลงรอสายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีประมาณร้อยละ 20 มาเป็นประมาณร้อยละ 22-23 ของจำนวนหมายเลขโทรศัพท์ทั้งหมด โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตสำคัญมาจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดทั้งกลยุทธ์ด้านราคาและมิใช่ราคา ส่งผลช่วยดึงดูดให้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกระแสความนิยมในศิลปินนักร้องและบทเพลงที่จะเปลี่ยนไปตามกระแสนิยม ทำให้จำนวนการเปลี่ยนเสียงเพลงรอสายมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำนวนเลขหมายใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนก็ส่งผลดีต่อตลาดบริการเสียงเพลงรอสาย ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อตลาดได้ ทั้งปัญหาราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกที่อาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ตาม บริการเสียงเพลงรอสายมีราคาต่อหน่วยไม่สูงนัก จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาสูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก

ในส่วนของแนวโน้มการขยายตลาดของผู้ให้บริการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผู้ให้บริการยังมีโอกาสในตลาดบริการเสียงเพลงรอสายอยู่อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการยังอยู่ในวงจำกัดและกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณร้อยละ 22-23 ของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ทั้งหมดเท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสในการขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นได้อีก แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการขยายตลาดของผู้ให้บริการ คือ การขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะไม่ได้ชื่นชอบการดาวน์โหลดเสียงเพลงรอสายตามกระแสนิยมทั่วไป ซึ่งผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำไปสู่การวางกลยุทธ์ในการขยายตลาดต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ