Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2551

ท่องเที่ยว

เทศกาลปีใหม่ 2552 : ไทยเที่ยวไทย..สร้างเม็ดเงินสะพัด 1.46 หมื่นล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2126)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศซึ่งมีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงในช่วงเกือบตลอดทั้งปี 2551 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มคึกคักขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงเดือนธันวาคม หลังเหตุการณ์ปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองคลี่คลายสู่ภาวะปกติในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายปัจจัยสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

- ราคาน้ำมันที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 30 ในช่วงเดือนธันวาคม 2551 กระตุ้นให้คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวกันเองด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น

- มาตรการของภาครัฐที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางในช่วงปีใหม่ ทั้งการเพิ่มความถี่การเดินรถของรถไฟ รถบขส.และการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ นอกจากนี้ รถบขส.ยังลดค่าโดยสารลง 50%ระหว่างวันที่ 26-28 ธันวาคม 2551 และยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่วนมอเตอร์เวย์ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2551-6 มกราคม 2552

- ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่ถดถอยลงในช่วงครึ่งปีหลัง จากปัญหาเศรษฐกิจและสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ ส่งผลให้ค่าบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง โดยเฉพาะโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่ส่วนใหญ่ต่างมีอัตราการเข้าพักลดลง

- หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชนด้านการท่องเที่ยวร่วมมือกันจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปในช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการจัดงานเคาต์ดาวน์อย่างยิ่งใหญ่ 10 แห่งในกรุงเทพฯ และการจัดงานเทศกาลปีใหม่ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งทั่วประเทศ

- การที่ครม.มีมติให้ประกาศวันหยุดปีใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม – 2 มกราคม 2552 เมื่อรวมวันหยุดสุดสัปดาห์จึงมีวันหยุดติดต่อกันถึง 5 วัน ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเดินทางไปท่องเที่ยวค้างคืนตามต่างจังหวัด

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดปีใหม่รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

(;การเดินทางท่องเที่ยว” ในรายงานนี้เป็นการเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ปกติ และไม่รวมการเดินทางไปยังที่อยู่ในภูมิลำเนาของบุคคลนั้นๆ ตามคำจำกัดความ ;การเดินทางของนักท่องเที่ยว” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในด้านการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่แล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการเดินทางแบบค้างคืนแต่ละครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 3 เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการเดินทางแบบทัศนาจรแต่ละครั้งที่มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 12 จากปีที่ผ่านมา

การใช้จ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในด้านการเดินทาง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ถึงร้อยละ 30 นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในด้านที่พักแรมที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราค่าห้องพัก ซึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของโรงแรมและรีสอร์ตตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทย ทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยลดลงหลังจากเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบกับกระแสนิยมการท่องเที่ยวโดยพักแรมท่ามกลางธรรมชาติตามอุทยานแห่งชาติหรือรีสอร์ตตลอดจนที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ และการเลือกพักตามโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 2-3 ดาวและโรงแรมต้นทุนต่ำที่กำลังมาแรง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงทั่วโลกในปัจจุบัน

ค่าใช้จ่ายด้านการจับจ่ายซื้อสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ซึ่งรวมทั้งสินค้าพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น นับเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการปรับลดอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างประหยัดและมุ่งสู่ความเป็นธรรมชาติของนักท่องเที่ยวคนไทยในปัจจุบัน

จากแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ ขณะที่การใช้จ่ายต่อการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้งที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วแม้ในอัตราไม่สูงนักก็ตาม

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนประมาณ 2.6 ล้านคนที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ มีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดสู่ธุรกิจสำคัญๆคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปี 2550

เม็ดเงินรายได้ด้านการท่องเที่ยวจำนวน 14,600 ล้านบาทดังกล่าว ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 28 หรือคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 4,100 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจด้านที่พักแรม ทั้งโรงแรมและรีสอร์ตตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงปีใหม่ อาทิ

- แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ทั้งแถบอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ และพังงา) แถบฝั่งอ่าวไทย (สมุย ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์) และชายฝั่งทะเลแถบตะวันออก (พัทยา บางแสน และตราด)

-แหล่งท่องเที่ยวตามยอดภูและยอดดอยในภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เลย ขอนแก่น เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา) โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา (มวกเหล็ก และปากช่อง) และเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคนไทยอย่างมาก เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก แต่อากาศหนาวเย็นไม่แพ้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

-แหล่งท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปีนี้แต่ละแห่งมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้บริการกางเต็นท์ที่พักแรมเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

-รีสอร์ตขนาดเล็กที่มีอัตราค่าห้องพักไม่สูง ซึ่งขยายตัวรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่ให้บริการที่พักในรูปโฮมสเตย์ อาทิ อำเภอวังน้ำเขียว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ท่องเที่ยว