Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 กุมภาพันธ์ 2552

บริการ

ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน ... ปรับตัวฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2442)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2551 ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่จากปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งก็มีข้อจำกัดจากผู้ใช้บริการที่มีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูง อีกทั้งการตกลงค่าบริการมักจะอยู่ในรูปของสัญญา จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากยอดการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีที่มีการชุมนุมประท้วงจนทำให้ต้องมีการปิดท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ต้องมีการขนส่งสินค้าผ่านทางรถบรรทุกเพื่อส่งต่อไปยังท่าอากาศยานในต่างจังหวัดหรือในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแทน ช่วยส่งผลดีบางส่วนต่อธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนในปี 2551 จะมีประมาณ 426 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 0.5 ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนประมาณ 428.1 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.1

สำหรับในปี 2552 ปัญหาต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน เนื่องจากราคาน้ำมันมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างมาก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้อาจหดตัวประมาณร้อยละ 10-16 จากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.8 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว -0.2 ถึง 0.3 จากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนอาจต้องเผชิญยอดการใช้บริการลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศถือเป็นผู้ใช้บริการหลัก นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากแนวโน้มการเข้ามาแข่งขันของผู้ให้บริการต่างชาติ ซึ่งมีความได้เปรียบจากเงินทุนและเทคโนโลยีระดับสูง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนจะมีประมาณ 413.2-417.5 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 2-3 หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวประมาณร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ จากแนวโน้มการหดตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนคาดว่าจะทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจจำหน่ายรถบรรทุก ธุรกิจซ่อมบำรุงรถบรรทุก ธุรกิจติดตั้งเครื่องยนต์ก๊าซ NGV และธุรกิจบริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบชะลอตัวตาม และยังส่งผลให้อาจมีการปรับลดการจ้างงานในภาคการขนส่งอีกด้วย

ในส่วนของแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในภาพรวมควรเร่งแสวงหาโอกาสจากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS และ BIMSTEC ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการขนส่งของไทยและภูมิภาค โดยในระยะสั้นผู้ประกอบการควรปรับรูปแบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนมากขึ้น ขยายตลาดและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการให้มากขึ้น ส่วนในระยะยาวผู้ประกอบการควรต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรีภาคบริการด้านการขนส่งและ โลจิสติกส์ วางแนวทางการปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซ NGV รวมกลุ่มกันลงทุนในเทคโนโลยีสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนผลักดันการขนส่งภายในกลุ่ม GMS และ BIMSTEC ให้มากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ