Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 เมษายน 2552

บริการ

ธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล ... เผชิญวิกฤต แต่มีโอกาสฟื้นช่วงปลายปี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2488)

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงจากปีก่อน รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการส่งออก (Export Volume) ในปี 2552 จะหดตัวประมาณร้อยละ 16.5-18.5 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 ส่วนปริมาณการนำเข้า (Import Volume) จะหดตัวประมาณร้อยละ 15.5-18 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 12.2 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศของไทยพึ่งพาการขนส่งทางทะเลมากกว่าร้อยละ 90 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวน 807,874 ที.อี.ยู. หดตัวประมาณร้อยละ 20.9 แบ่งเป็นตู้สินค้าขาออกมีจำนวน 399,429 ที.อี.ยู. หดตัวประมาณร้อยละ 21.3 ขณะที่ตู้สินค้าขาเข้ามีจำนวน 408,445 ที.อี.ยู. หดตัวประมาณร้อยละ 20.5 ซึ่งยอดใช้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ลดลงนี้ก็ได้ทำให้เรือขนส่งหลายลำต้องหยุดให้บริการชั่วคราวและจอดเทียบท่าไว้

สำหรับอัตราค่าระวางเรือในปีนี้โดยเฉลี่ยน่าจะมีแนวโน้มลดลง แม้ล่าสุดหลายสายการเดินเรือมีการยกเลิกเส้นทางขนส่งบางเส้นทางและปรับลดจำนวนรอบการขนส่ง ซึ่งในระยะสั้นอาจทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นได้ แต่โดยเฉลี่ยทั้งปีแล้วน่าจะลดลงจากปีก่อน ในส่วนของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาน้ำมันก็ไม่สามารถช่วยธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลได้มากนัก ท่ามกลางภาวะที่การค้าระหว่างประเทศหดตัวลงอย่างรุนแรง อีกทั้งโดยทั่วไปแล้วผู้ให้บริการสามารถคิดค่าระวางเรือโดยบวกความเสี่ยงจากราคาน้ำมันได้อยู่แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแนวโน้มธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลในปีนี้จะอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก เนื่องจากต้องพึ่งพายอดการใช้บริการจากผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ในสถานการณ์ที่การค้าระหว่างประเทศหดตัวอย่างมาก ยอดใช้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลก็มีแนวโน้มลดลงตาม แต่สำหรับผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าในธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากต่างประเทศยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ยังมียอดใช้บริการขนส่งสินค้าเกษตรเพื่อส่งออก

ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอื่นๆ ลดลงไปอย่างมาก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังจะมีประมาณ 5.5-5.9 ล้านที.อี.ยู. หดตัวประมาณร้อยละ 10-15 จากปีก่อนที่มีจำนวนตู้สินค้าประมาณ 6.5 ล้านที.อี.ยู. ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3

อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่สัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจจะส่งผลดีบางส่วนต่อเศรษฐกิจโลก โดยหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้และจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ซึ่งน่าจะส่งผลให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเริ่มฟื้นตัวตามไปด้วย

โดยคาดว่าการนำเข้าน่าจะมีโอกาสการฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากหากเศรษฐกิจโลกมีโอกาสฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ภาคธุรกิจจะต้องเริ่มนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเพื่อเตรียมการผลิตให้สินค้าสามารถออกจำหน่ายได้ทันในช่วงปลายปีซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่แนวโน้มการส่งออกก็น่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 และน่าจะเห็นสัญญาณการเติบโตมากขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ในช่วงที่แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศยังคงซบเซาอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางทะเลก็อาจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ทันกับภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ