แม้แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยิ่งหากปัญหาการเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้บริโภคก็น่าจะเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงิน ก็อาจจะตัดสินใจซื้อสินค้ากันคึกคักขึ้นในช่วงสุดท้ายของปีนี้
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายค้าปลีกค้าส่งน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2552 ส่งผลให้ อัตราการขยายตัวของมูลค่าค้าปลีกค้าส่งในช่วงครึ่งปีหลัง อาจมีค่าติดลบน้อยลงมาที่ประมาณร้อยละ 1.0-2.5 (ณ ราคาคงที่) จากที่เติบโตติดลบร้อยละ 3.3 ในช่วงครึ่งปีแรก
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินกลยุทธ์กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนรอบด้าน จนอาจจะมีผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีการใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเร่งยอดการใช้จ่ายและรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสงครามราคา การสร้างความภักดีหรือความผูกพันกับแบรนด์ร้านค้า การขยายช่องทางการจำหน่ายในยุคเฟื่องของอินเทอร์เน็ต และการหาพันธมิตรทางการค้า เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น