Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2552

บริการ

การเปิดเสรี “สุขภาพ” ของอาเซียนปี 2553 : โอกาสของธุรกิจรักษาพยาบาลไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2691)

คะแนนเฉลี่ย

การเปิดเสรีการค้าสินค้าสุขภาพของอาเซียนน่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของไทยไปยังตลาดอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (CLMV) ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ 4 ประเทศเหล่านี้มีกำหนดต้องลดภาษีสินค้าสาขาสุขภาพเป็นร้อยละ 0 ในปี 2555 โดยเฉพาะการส่งออกไปเวียดนาม พม่า และกัมพูชา ที่ปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมที่สำคัญของไทยในอันดับต้นๆ แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของไทยยังมีมูลค่าไม่สูงนัก

สำหรับการส่งออกสินค้าสาขาสุขภาพอื่นๆ ของไทยในอาเซียนยังมีไม่มากนักไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์/เครื่องมือทางการแพทย์ และสินค้ายา/เวชภัณฑ์ โดยไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิสินค้าเหล่านี้ (สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิ) ส่วนการส่งออกถุงมือยางตรวจโรคและถุงมือผ่าตัดของไทยถือว่ามีบทบาทสำคัญในตลาดโลก แต่มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศในอาเซียนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการเปิดเสรีสาขาสุขภาพของอาเซียนในภาคบริการน่าจะส่ง ผลดีต่อไทยมากกว่า โดยเปิดโอกาสให้ธุรกิจรักษาพยาบาลของไทยขยายเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนได้มากขึ้นจากข้อผูกพันที่อาเซียนจะต้องยกเลิกเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดภาคบริการสาขาสุขภาพและขยายสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนเป็นร้อยละ 70 ภายในปี 2553

ปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจรักษาพยาบาลของไทยเข้าไปลงทุนในอาเซียน ได้แก่ ศักยภาพของธุรกิจรักษาพยาบาลและการบริหารธุรกิจโรงพยาบาลของไทยในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศมีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย

โดยตลาดสำคัญที่ธุรกิจรักษาพยาบาลไทยมีโอกาสเติบโต ได้แก่ ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกและบริการรักษาพยาบาลในประเทศลาว พม่า เวียดนามและกัมพูชา ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ การเข้าไปลงทุนในลาวและเวียดนามยังอาจสามารถดึงดูดผู้ป่วยชาวจีนตอนใต้ที่มีพรมแดนอยู่ติดกับประเทศลาวและเวียดนามให้เข้ามารักษาในธุรกิจรักษาพยาบาลของไทยใน 2 ประเทศนี้ได้ด้วย

นอกจากนี้ ผลของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของอาเซียน และการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งและโลจีสติกส์ในภูมิภาคอินโดจีนยังจะช่วยอำนวยความสะดวกให้การเดินทางไปมาของประชาชนในภูมิภาคอินโดจีนผ่านเส้นทางคมนาคมทางบกให้มีความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งน่าจะสร้างโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนของไทยขยายการลงทุนออกไปจัดตั้งธุรกิจในเมืองหลักๆ ในภูมิภาคของไทย เพื่อรองรับการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลของกลุ่มคนเหล่านี้ในไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจรักษาพยาบาลของไทยในอาเซียนอาจต้องเผชิญปัจจัย ท้าทายจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศอาเซียนที่เข้าไปลงทุนและในประเทศไทยเอง โดยคาดว่าเป้าหมายการเคลื่อนย้ายแรงงานทางการแพทย์ภายในอาเซียนอย่างเสรีในปี 2558 ที่อาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์น่าจะส่งผลค่อนข้างจำกัด รวมถึงความท้าทายจากการแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียที่ต่างมีเป้าหมายขยายการลงทุนในอาเซียนและต้องการเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเช่นเดียวกับไทย

ขณะเดียวกันการขยายธุรกิจรักษาพยาบาลในต่างประเทศของโรงพยาบาลเอกชนไทยอาจซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแพทย์ในปัจจุบันให้รุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียที่ต้องการดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทย โดยคาดว่าปัญหาการแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศระหว่างผู้ให้บริการสาธารณสุขของภาครัฐและภาคเอกชนยังคงรุนแรงต่อไป

โดยเฉพาะภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณภาครัฐ ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นร่วมกับภาคเอกชน โดยการพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้าน ได้แก่ การรักษาเป้าหมายในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง การคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมและการขยายตัวของธุรกิจเอกชน และการรักษาบุคลากรในภาครัฐให้มีจำนวนเพียงพอสำหรับพันธกิจของภาครัฐ รวมทั้งอาจต้องร่วมกันพิจารณาถึงความจำเป็นของการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการร่วมรับภาวะต้นทุนในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ