Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มิถุนายน 2553

บริการ

ธุรกิจรักษาความปลอดภัย : ธุรกิจที่ยังเติบโตต่อเนื่อง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2837)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันธุรกิจรักษาความปลอดภัยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือ การขยายตัวของความต้องการทั้งจากลูกค้าภาครัฐ โดยเฉพาะการทยอยย้ายหน่วยงานราชการเข้าไปอยู่ในศูนย์ราชการที่สร้างเสร็จ และลูกค้าภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยที่เพิ่งสร้างเสร็จ ทั้งบ้านจัดสรร อาคารชุด และทาว์นเฮ้าส์ รวมไปถึงโครงการอาคารสำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่งจะสร้างเสร็จในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ความกังวลถึงความปลอดภัยในทรัพย์สิน เนื่องจำนวนมิจฉาชีพหรือโจรผู้ร้ายก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เจ้าของบ้านบางรายก็หันมาติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเอง อันเป็นผลมาจากราคาของอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจเลือกซื้อมากขึ้น

สำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งในบางจังหวัดทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะที่ผ่านมา เป็นต้น ทำให้การตระหนักถึงการรักษาความปลอดภัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2553

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสินค้าและบริการด้านระบบรักษาความปลอดภัยและระบบป้องกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เหลือจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จากที่มีการประเมินว่า ธุรกิจรักษาความปลอดภัยในเอเชีย-แปซิฟิก มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมาก โดยมีการประเมินว่าในปี 2559 มูลค่าธุรกิจรักษาความปลอดภัยในเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการเติบโตจะสูงถึงร้อยละ 7.5 ต่อปี[1]

ส่วนธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัยจะมีบทบาทในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยสถานที่ราชการ/รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหน่วยงานของภาคธุรกิจเอกชนเป็นจำนวนมากได้หันมาใช้บริการจากบริษัทรักษาความปลอดภัยแทนการมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งการใช้บริการจากบริษัทรักษาความปลอดภัยนั้น สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาบุคคลากรในระยะยาวได้ เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวรยาม ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และยังจะต้องรับผิดชอบในเรื่องของสวัสดิการด้านต่างๆอีกมาก เทียบกับในกรณีที่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทเอง ทักษะ(Skill) ก็แตกต่างกัน ทำให้สะดวกที่จะใช้บริการจากบริษัทรักษาความปลอดภัยข้างนอก (Outsource) แทนที่จะทำเอง

ในอนาคตไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าระบบรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยจะหันมาใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยมากขึ้น และลดจำนวนการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยลง กล่าวคือ ปรับสัดส่วนระหว่างค่าใช้จ่ายระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยจากร้อยละ 80:20[2] เป็นร้อยละ 60:40 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับในต่างประเทศที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายระหว่างอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยพอๆกับจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัย

นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยรายใหญ่ของโลก และเป็นแหล่งนำเข้าอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอันดับหนึ่งของไทย เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย มีทำกิจกรรมร่วมกัน และนำเสนอสินค้าด้านระบบรักษาความปลอดภัยที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ นับว่าเข้ามาเพิ่มทางเลือกในตลาดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ซึ่งยิ่งจะทำให้ตลาดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


[1] สมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย

[2] สมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ