Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กรกฎาคม 2553

บริการ

เปิดเสรีโลจิสติกส์อาเซียน...ผลดี-ผลเสีย และหลากหลายประเด็นที่ต้องติดตาม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2871)

คะแนนเฉลี่ย

การเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ภายใต้กรอบความตกลง AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2556 โดยกำหนดจะเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นเพิ่มเป็นร้อยละ 51 ในปี 2553 และร้อยละ 70 ในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ในระยะสั้นหากมีการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ การแข่งขันอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างทันทีทันใด เนื่องจากยังมีประเด็นด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งความรู้ความชำนาญในพื้นที่ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการเข้ามาของชาวต่างชาติ และออกไปลงทุนนอกประเทศของคนไทย โดยเฉพาะในขั้นตอนที่จะต้องเปิดเสรีมากกว่ากฎหมายภายในของแต่ละประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่กรอบเวลาการเปิดเสรีที่กำหนดไว้อาจจะล่าช้าออกไป

แต่ในระยะยาว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ทั้งจากธุรกิจของชาวต่างชาติหรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อาจมีการขยายเครือข่ายและการลงทุนให้บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศในลักษณะคล้ายกับธุรกิจค้าปลีก และอำนาจการต่อรองที่มีมากกว่า รวมทั้ง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า มูลค่าธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบกซึ่งเป็นตลาดของผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนใหญ่ มีโอกาสที่จะเผชิญการแข่งขันจากผู้ให้บริการต่างชาติมากขึ้น โดยประเมินว่า ตลาดขนส่งสินค้าทางบกในประเทศ น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 380,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 48 ของตลาดบริการโลจิสติกส์โดยรวม ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์อาเซียนอาจเป็นโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงตลาดการให้บริการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งในอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านของอาเซียนที่มีพรมแดนติดกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ซึ่งเป็นตลาดการค้าและบริการที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพในการเติบโตสูง รวมทั้งการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ตลอดจนความร่วมมือเพื่อการขนส่งระหว่างกันในภูมิภาคจะเอื้ออำนวยให้ผู้ให้บริการขนส่งทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าชายแดน รวมถึงการขนส่งสินค้าผ่านไปยังจีน เช่น รถบรรทุก การขนส่งด้วยห้องเย็น การขนส่งสินค้าอันตราย น่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีดังกล่าว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2553 มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนระหว่างไทย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ อาจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16.0-22.0 มีมูลค่าประมาณ 750,000-790,000 ล้านบาท จากในปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 646,813 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในระยะยาวการเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาครัฐจึงควรมีมาตรการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเร่งปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งของตน เพื่อรองรับการแข่งขัน และโอกาสที่จะเกิดขึ้นด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ