Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กุมภาพันธ์ 2556

บริการ

แนวโน้มธุรกิจบริการ Cloud Computing ปีมะเส็ง: เติบโตแข็งแกร่งจากปัจจัยหนุนรอบด้าน (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2321)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยีหนึ่งที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มการใช้งานในองค์กรมากขึ้นเป็นลำดับ คือ เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง[1] (Cloud Computing) ซึ่งนับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในการเช่าใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแทนที่จะต้องลงทุนสร้างระบบทั้งหมดเอง โดยองค์กรผู้ใช้งานเพียงเป็นผู้เข้าถึงหรือเป็นเพียงผู้เช่าใช้บริการ ซึ่งมีลักษณะการรับบริการที่คล้ายคลึงกับบริการสาธารณูปโภคอย่างน้ำประปาและไฟฟ้า ทั้งนี้ กระแสนิยมของการเริ่มใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งในไทยได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้หลายๆองค์กรเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงที่มีต่อข้อมูลที่อยู่ในรูปดิจิทัลจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงแนวคิดที่ต้องการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงเกิดภัยพิบัติ ส่งผลให้ธุรกิจบริการศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งเริ่มเข้ามามีบทบาททางธุรกิจในไทยมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งในปี 2556 น่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง สืบเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ความต้องการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ การผสมผสานระหว่างบริการคลาวด์คอมพิวติ้งกับการสื่อสารข้อมูลไร้สายความเร็วสูง 3G และแนวโน้มการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวิเคราะห์เชิงธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น

จากแนวโน้มและปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 ตลาดการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งจะเติบโตประมาณร้อยละ 16.7 ถึง 22.1 จากที่โตราวร้อยละ 10.6 ในปี 2555 และมีมูลค่าตลาดรวม 2,220 ถึง 2,330 ล้านบาท เทียบกับ 1,900 ล้านบาทในปี 2555


[1] แนวคิดของการนำระบบซอฟต์แวร์ต่างๆไว้ที่เครื่องแม่ข่ายกลาง แล้วให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาใช้ระบบโดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และคิดค่าบริการตามปริมาณที่ใช้จริง


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ