Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 พฤษภาคม 2556

บริการ

แรงงานไม่เพียงพอ … ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งการเติบโตของภาคโลจิสติกส์ไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2364)

คะแนนเฉลี่ย

ภาคโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยถูกขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมการขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยกิจกรรมการขนส่งภายในประเทศมีปัจจัยสนับสนุนจากภูมิภาคต่างๆ ที่มีการเติบโตของความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น (Urbanization) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และอสังหาริมทรัพย์ตามมา จึงส่งผลต่อความต้องการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ส่วนกิจกรรมการขนส่งระหว่างประเทศได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งเส้นทางสายดังกล่าวได้มีการพัฒนาและก่อให้เกิดประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ส่วนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 ก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลต่อความต้องการขนส่งสินค้า เนื่องจากการค้ายชายแดนที่คึกคัก ประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้กรอบ AEC ในปี 2558 จะเป็น เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจขนส่งสินค้า

ภายใต้การเปิด AEC ในปี 2558 นี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็น ;Logistics Hub” ของภูมิภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้จะต้องมีการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกกิจกรรมการขนส่งให้สามารถลดต้นทุนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ภาครัฐได้มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่าน พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จำนวน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นแนวทางในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ อนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จเพื่อมุ่งไปสู่การเป็น ;Logistics Hub” นอกจากการพัฒนาด้านกายภาพแล้ว การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอเพื่อรองรับแผนพัฒนาก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแต่ขาดองค์ความรู้และขาดแรงงานที่มีความรู้ความสามารถก็จะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานกลุ่มบริหารจัดการ 46,795 คน และ 31,071 คน ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ และขาดแคลนแรงงานกลุ่มปฏิบัติการ 86,378 คน และ 71,877 คน ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มบริหารจัดการจะเป็นไปในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจาก สถาบันการศึกษาได้เร่งผลิตแรงงานออกสู่ตลาดในรูปแบบการรับสมัครนักศึกษาเพิ่มขึ้นและเปิดหลักสูตรสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องใหม่ๆ รวมถึงยังสามารถทดแทนได้ด้วยแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาอื่น และแรงงานที่ย้ายจากสาขางานด้านอื่นเข้าสู่สาขางานด้านโลจิสติกส์ได้ โดยสถาบันการศึกษาควรเปิดหลักสูตรการศึกษาสาขาโลจิสติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้องในระยะสั้น มุ่งผลิตแรงงานเพื่อรองรับ AEC และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้ในเชิงธุรกิจ

สำหรับแรงงานกลุ่มปฏิบัติการนั้น เป็นกลุ่มที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเป็นแรงงานกลุ่มที่ใช้ความสามารถเฉพาะด้าน จึงไม่สามารถทดแทนได้ด้วยแรงงานจากสาขางานด้านอื่นๆ อีกทั้งการขยายเส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางการขนส่งทางบก ทั้งภายในประเทศและอาเซียน เป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งความต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มปฏิบัติการมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านโลจิสติกส์กลุ่มปฏิบัติการจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพสำหรับแรงงานกลุ่มปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรมีการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านคลังสินค้า ด้านการขนส่งสินค้า ด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานสำหรับภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ