Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 สิงหาคม 2556

บริการ

ตลาดกวดวิชายังคงเติบโต : จับตา ทางเลือกกว้างขึ้นของนักเรียน และสินค้าติวเข้ามหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยท้าทาย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2395)

คะแนนเฉลี่ย

ค่านิยมในการเรียนกวดวิชาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อสร้างความได้เปรียบในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตและมีมูลค่าตลาดสูง โดยพบว่าในปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาได้มีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ คือ มีการใช้สถานที่หรืออาคารร่วมกันเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ One - Stop Service ในการเดินทางมาเรียนกวดวิชาสำหรับนักเรียน โดยมุ่งขยายสาขาจากจังหวัดหลักในภาคต่างๆไปจังหวัดรองมากขึ้น อีกทั้งยังมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ Admissions รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดธุรกิจกวดวิชาได้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาบางรายเริ่มกระจายความเสี่ยงโดยการขยายไปในธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการแนะแนวการศึกษา แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษา การผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ รวมถึงการขายสื่อการเรียนรู้แบบมัลติมีเดียให้โรงเรียนต่างๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2556 ไว้ที่ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี โดยคาดว่าจะมีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรและจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกวดวิชาในอนาคต ได้แก่ ทางเลือกของนักเรียนในการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มากขึ้น ทั้งการเปิดหลักสูตรภาคพิเศษและหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยรัฐบาล การยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอกชน รวมถึงการจัดกิจกรรมการตลาดของผู้ผลิตสินค้าในรูปแบบการเปิดติววิชาต่างๆโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงสมอง ที่ต่างก็หันมามุ่งเจาะตลาดนักเรียนและนักศึกษา
ความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกวดวิชาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาต้องปรับตัวให้สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงโดยการเป็น Community ของนักเรียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่สามารถจะดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาเรียนเป็นกลุ่มและบอกต่อไปยังกลุ่มเพื่อน รวมถึงยังต้องยกระดับการสอน โดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนและเสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์สำหรับนักเรียน จากที่ในปัจจุบันจะเป็นการมุ่งเน้นสรุปเนื้อหาและถ่ายทอดเทคนิคการทำข้อสอบเท่านั้น
ทั้งนี้ การขยายธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลักจำนวนไม่กี่รายไปในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรอง นำมาซึ่งความจำเป็นในการปรับตัวของโรงเรียนกวดวิชาท้องถิ่น ซึ่งควรใช้จุดแข็งด้านความเข้าใจถึงความต้องการและข้อจำกัดของนักเรียนในท้องถิ่น รวมถึงค่าเรียนต่อหลักสูตรที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก และในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องปรับหลักสูตรและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเรียนการสอนควบคู่กันไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ