การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นฟรีทีวีที่จะก่อให้เกิดช่องธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก 24 ช่อง ภายในไตรมาส 1 ของปี 2557 นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งของไทยให้เติบโตขึ้น แต่ถึงกระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอีกหลายปัจจัย ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการขายมีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ผู้บริโภคอาจจะศึกษาข้อมูลต่างๆ ของตัวสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการหลายๆ รายก่อนที่จะทำการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้
ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งควรคำนึง คือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสนใจที่จะเลือกดูช่องรายการทีวีโฮมช้อปปิ้ง และเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางทีวีมากขึ้น ท่ามกลางช่องทางการทำการตลาดที่หลากหลายและแข่งขันกันอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (อาทิ ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนี่ยนสโตร์ สเปเชียลตี้สโตร์ คอมมูนิตี้มอลล์) การขายตรงผ่านตัวแทนที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านร้านค้าปลีกออนไลน์ (E-Commerce) ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งต้องมีการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาทิ การสร้างคอนเทนต์รายการให้น่าสนใจ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีจากการเข้าสู่ระบบทีวีดิจิทัล รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2556 ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งของไทยน่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 5,000 ล้านบาท และคาดว่าภายหลังจากการที่ทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจได้ออกอากาศภายในไตรมาส 1 ปี 2557 น่าจะทำให้มูลค่าตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น