Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 พฤศจิกายน 2556

บริการ

ไทยกับการเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาค : โอกาสจากความคึกคักของธุรกิจการบินอาเซียนที่ท้าทายสำหรับไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2425)

คะแนนเฉลี่ย

สำหรับภาพรวมของธุรกิจการบินของไทยในปี 2556-2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะยังคงมีความคึกคักต่อเนื่อง ด้วยแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งจากการขยายตัวของผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจการบินของไทยยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากกระแสการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 และการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2556 จะมีจำนวนเที่ยวบินมาทำการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักและรองของประเทศ รวมทั้งสิ้น 440,178 เที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2557-2558 จะมีการขยายตัวของเที่ยวบินกว่าร้อยละ 10 และ 11 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตคือ การก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558

จากการพยากรณ์ทางการตลาดโลกหรือโกลบอล มาร์เก็ต ฟอร์คาสต์ (GMF) ของบริษัทผลิตอากาศยานค่ายยุโรประบุว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราการเดินทางทางอากาศจะเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยอากาศยานที่มีในปัจจุบันประมาณ 17,740 ลำ ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 36,560 ลำภายในปี พ.ศ. 2575 ซึ่งภายในปีดังกล่าวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเดินทางทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น แซงหน้าภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ สำหรับภูมิภาคอาเซียนนั้นนอกจากการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการเดินทางระหว่างเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคมากยิ่งขึ้น การเปิด AEC ยังก่อให้เกิดปัจจัยสนับสนุนธุรกิจการบินอีกประการคือ การเปิดเสรีการบินอาเซียน ในปี 2556 โดยทำให้เกิดการเพิ่มเที่ยวบินและขยายเส้นทางการบินมายังประเทศอาเซียนและเส้นทางการบินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2554-2556 มีการเปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคอาเซียนกว่า 7 สายการบิน ใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ประเทศไทยซึ่งนับว่ามีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนถึง 4 ประเทศ และมีจุดแข็งจากการเติบโตของธุรกิจการบินอย่างโดดเด่นในภูมิภาค ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับธุรกิจการบินที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายที่จะเป็น ;ศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาค” เพื่อรองรับปริมาณเครื่องบินที่จะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้นอกเหนือจากข้อได้เปรียบของไทยดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกประการสำคัญคือ การที่ไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง โดยที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญในการเริ่มเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อการส่งออกแล้ว

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากปัจจัยส่งเสริมแล้ว ยังคงมีประเด็นท้าทายอยู่ เนื่องจากประเทศไทย ยังขาดความพร้อมทางศักยภาพบางด้าน อาทิ การขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การขาดความชัดเจนของนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน และการขาดการวางแผนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาและเร่งดำเนินการแก้ไข เนื่องจากการเติบโตอย่างมากของธุรกิจการบินอาเซียนก็ได้ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เล็งเห็นถึงโอกาส โดยสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนก็มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานภูมิภาคด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อดึงดูดปริมาณเครื่องบินต่างๆ ให้มาใช้บริการศูนย์ซ่อมอากาศยานของไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการซ่อมอากาศยานภูมิภาค และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป เนื่องจากจะมีการว่าจ้างบริษัทซัพพลายเออร์ในไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนอากาศยานต่างๆ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีและทักษะการบินของประเทศอีกด้วย โดยโครงสร้างของประโยชน์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นในประเทศไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ