Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 เมษายน 2557

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวเริ่มปรับทิศทางหลังยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ : แต่ต่างชาติเที่ยวช่วงสงกรานต์ปี’57 ยังลดลงจากปีก่อน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2485)

คะแนนเฉลี่ย

เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยหรือเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เป็นช่วงที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ที่หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญของทุกภาคทั่วไทย และสร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทตลอดระยะของการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในปี 2557 นี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะไม่คึกคักดังเช่นในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อ มีแนวโน้มส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี หลังการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หน่วยงานของภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจด้านท่องเที่ยวเร่งจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศ เช่น การจัดงานโรดโชว์ในประเทศเป้าหมาย การจัดแฟม ทริป (Familiarization Trip) เพื่อชักจูงสื่อมวลชน และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว จากต่างประเทศให้เดินทางมาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวหลัก และแหล่งท่องเที่ยวรองของไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องยังนำเสนอแคมเปญที่หลากหลาย เช่น ลดราคาห้องพักในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นำเสนอโปรโมชั่นร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากการชุมนุม โดยส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ และพังงา) สมุย และพัทยา รวมทั้งหาดใหญ่ และเชียงใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีแนวโน้มซบเซาลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณกว่า 6 แสนคน ลดลงร้อยละ 10.6 จากปีก่อนหน้า ส่วนการใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างพำนักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 26,500 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ท่องเที่ยว