World Cup 2014 เปิดฉากขึ้นที่ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน -13 กรกฎาคม ความคึกคักของมหกรรมกีฬาระดับโลกเกิดขึ้นท่ามกลางโจทย์เงินเฟ้อที่เร่งขึ้นอาจเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจบราซิลในช่วงที่เหลือของปี และอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปบราซิลในระยะข้างหน้าได้ หลังจากที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าส่งออก 630 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 15.4 (YoY) อย่างไรก็ดี World Cup 2014 น่าจะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในบราซิลให้ขยายตัวได้มากขึ้น จะเป็นแรงหนุนความต้องการสินค้าไทยให้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปบราซิลในปี 2557 อาจมีมูลค่าราว 2,100 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ลดลงจากปีก่อนหน้า (คาดว่าจะลดลงราวร้อยละ 6-7) แต่บราซิลจะยังคงเป็นปลายทางการส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยในลาตินอเมริกา และอาจอาศัยบราซิลเป็นฐานกระจายสินค้าไทยได้อีกทางหนึ่ง
ในอีกด้านหนึ่งนักท่องเที่ยวบราซิลยังเป็นแหล่งรายได้ที่น่าสนใจของไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวบราซิลจัดเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง มีค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยคนละประมาณ 57,355 บาท/ทริป ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทย (เฉลี่ยคนละประมาณ 44,016 บาท/ทริป) ถึงร้อยละ 30.3 แม้นักท่องเที่ยวชาวบราซิลจะจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับชาติอื่น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 18,241 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน (YoY) ความสะดวกด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันและมาตรการกระตุ้นตลาดในช่วงโลว์ซีซั่นของหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนของไทย น่าจะเอื้อประโยชน์ดึงดูดนักท่องเที่ยวบราซิลมายังไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลอดทั้งปี 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางมายังประเทศไทยสูงถึง 46,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 จากปีที่แล้ว และสร้างรายได้สะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวในอัตราร้อยละ 30.0 (YoY)
จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ที่ประเทศบราซิลในครั้งนี้ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าบราซิลกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและเสริมเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจบราซิลที่ธนาคารกลางบราซิลมองว่าจะเติบโตร้อยละ 1.5 ในปี 2557 ก่ออานิสงส์ต่อสินค้าไทยหลายกลุ่มสินค้า และยังช่วยให้นักธุรกิจไทยรู้จักบราซิลมากขึ้นในฐานะการเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตและการบริโภคของภูมิภาคลาตินอเมริกา เพิ่มความน่าสนใจในการทำธุรกิจกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนระหว่างกันในระยะข้างหน้า โดยอาศัยประโยชน์จากสินค้าไทยที่โดดเด่นเป็นอันดับ 1 ของบราซิลในกลุ่มอาเซียน พร้อมทั้งมีเครือข่ายธุรกิจอยู่แล้วเป็นตัวนำตลาด โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าจากประเทศใกล้เคียงในอาเซียนแล้วส่งออกต่อไปบราซิลได้อีกทางหนึ่ง ประกอบกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นยังเอื้ออานิสงส์ต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยเติบโตขยายตัวตามการเดินทางมาติดต่อธุรกิจในไทยในระยะข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น