Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มิถุนายน 2558

บริการ

ผลกระทบจาก ICAO ต่อธุรกิจการบินของไทยยังจำกัด … แต่ยังคงต้องติดตามท่าทีของ FAA และ EASA ต่อจากนี้ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2636)

คะแนนเฉลี่ย

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ขึ้นธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO ซึ่งเป็นการประกาศให้สาธารณะรับทราบถึงข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) เนื่องจากทางกรมการบินพลเรือนไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ทาง ICAO ตรวจพบได้ภายในระยะเวลา 90 วัน ในเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญด้านความปลอดภัย (SSC) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไทยถูกขึ้นธงแดงนั้น ไม่ได้เป็นการระบุว่าองค์ประกอบของกิจกรรมการเดินอากาศ ซึ่งได้แก่ สายการบิน เครื่องบิน หรือสนามบินของไทยไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย แต่เป็นการบ่งชี้ว่ารัฐไม่มีการกำกับดูแลความปลอดภัยเพียงพอที่จะให้การดำเนินงานด้านการบินมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของ ICAO

อย่างไรก็ตาม นอกจากความท้าทายจะขึ้นอยู่กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาแล้ว ธุรกิจสายการบินของไทย ยังถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังจะเห็นได้จากผลกระทบกรณีของ ICAO ที่ได้รับรู้ไปก่อนหน้านี้แล้วระดับหนึ่ง เนื่องจากกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่นได้มีข้อจำกัดในการขยายเส้นทาง เพิ่มเที่ยวบิน หรือเปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องบิน ของสายการบินทั้งประจำและเช่าเหมาลำของไทย เช่นเดียวกับกรมการบินพลเรือนเกาหลีใต้เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจของสายการบินของไทยทั้งประจำและเช่าเหมาลำ

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 นี้ นับว่าเป็นช่วงที่มีความท้าทายในการที่ภาครัฐคงจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาของกรมการบินพลเรือนไทยทั้งประเด็นของ ICAO ที่มีแผนจะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจสอบขององค์กรบริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ซึ่งจะเดินทางเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานกรมการบินพลเรือนไทยในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่ ในส่วนของทางองค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ที่แม้ว่าล่าสุด เมื่อ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ผลการประชุม EASA จะยังไม่มีการแถลงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของการประชุมครั้งต่อไปอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังต้องติดตามแนวทางการพิจารณาของ EASA ในขั้นต่อไป ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่ EASA จะขอเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของกรมการบินพลเรือนไทย ดังนั้นภารกิจเร่งด่วนของทางการไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้ และตามกรอบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของ ICAO และนานาชาติ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจสายการบินก็ควรจะต้องมีการติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการใดๆ ต่อกรมการบินพลเรือนไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังธุรกิจสายการบิน สำหรับกรณีที่ทาง ICAO ขึ้นธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ได้สร้างความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยที่กำลังเติบโต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กรณีการขึ้นธงแดงของ ICAO หน้าชื่อประเทศไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของสายการบินของไทย แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันที่รุนแรง สายการบินต่างประเทศมีการขยายเส้นทางการบินมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีทางเลือกในการใช้บริการสายการบิน และกลายเป็นโจทย์ท้าทายที่สายการบินของไทยคงจะต้องสร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ของสายการบิน เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสในการทำตลาดให้กับคู่แข่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ