Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤศจิกายน 2558

ท่องเที่ยว

คนกรุงเทพฯ เที่ยวในประเทศช่วงไตรมาส 4 ปี’58 สร้างเม็ดเงินสะพัดมูลค่า 40,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2677)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ด้วยมีวันหยุดยาวและเทศกาลหลายช่วงเวลา ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างใช้จังหวะนี้เร่งกระตุ้นยอดขายขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็มีการจัดรายการส่งเสริมการขายบ่อยขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีทิศทางชะลอตัว จึงยิ่งทำให้สถานการณ์การแข่งขันทวีความเข้มข้น โดยหากพิจารณาในด้านกำลังซื้อและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มที่ชื่นชอบกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยว อาจกล่าวได้ว่า ตลาดคนกรุงเทพฯ เป็นตลาดสำคัญที่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เน้นทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2558-2 ตุลาคม 2558 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯ จำนวน 400 คน ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพหลัก ช่วงอายุ และระดับรายได้
จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในครั้งนี้ได้สะท้อนภาพพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีแผนท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์หลักที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในต่างจังหวัดและกลุ่มที่เดินทางกลับไปเที่ยวภูมิลำเนา แวะเยี่ยมญาติ ท่องเที่ยวระหว่างทาง/พื้นที่ใกล้เคียง โดยปลายทางยอดฮิตของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อันดับ 1 คือ เชียงใหม่ รองลงมา ได้แก่ ภูเก็ตและกระบี่
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อแผนการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่าง อันดับ 1 คือ การชักชวนของสมาชิกในครอบครัว รองลงมา ได้แก่ โปรโมชั่นด้านราคาของตั๋วเครื่องบิน/ห้องพัก และการชักชวนจากเพื่อนฝูง รวมถึงการแบ่งปันรูปภาพและเรื่องราวผ่านสื่อต่างๆ เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร) เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้รถยนต์เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความคล่องตัวระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากสามารถปรับแผนการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนรูปแบบการเดินทางอื่นๆ ที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้บริการสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คือ ระบบขนส่งสาธารณะ (เช่น รถไฟ รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น)
จากผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง
ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 จำนวนคนกรุงเทพฯ จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศทั้งระยะใกล้และไกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ของไทยมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ท่องเที่ยว