Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ธันวาคม 2558

การค้า

เตรียมเปิดศักราชใหม่ต้อนรับ AEC แต่ยังต้องเร่งปลดล็อคมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2688)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนน่าจะได้อานิสงส์จาก AEC ในการประคองโมเมนตัมการเติบโตภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยคาดว่าในปี 2559 เศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 4.3-5.1 ต่อเนื่องจากปี 2558 ที่น่าจะจบปีด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 4.4

ในอนาคตภายหลังการรวมกันเป็น AEC นั้น การที่เศรษฐกิจอาเซียนจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การบรรลุเป้าหมายการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันซึ่งจะต้องประกอบด้วยการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้นจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าอาเซียนประสบความสำเร็จในการยกเลิกกำแพงภาษีระหว่างกันภายใต้กรอบ AFTA (ASEAN Free Trade Agreement) โดยในปี 2558 อาเซียนสามารถยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าไปแล้วถึงร้อยละ 96.0 ของรายการสินค้าทั้งหมด กระนั้น แต่ละประเทศสมาชิกกลับมีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษีมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (TBT) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SBS) ทำให้ต้นทุนการผลิต และระยะเวลาการนำเข้าส่งออกของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะบั่นทอนศักยภาพการเติบโตของมูลค่าการค้าการลงทุนในภูมิภาคให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ ธุรกิจไทยที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ SPS ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มักจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ TBT ซึ่งสินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปอาเซียน ดังนั้น สิ่งที่อาเซียนต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลังจากนี้ คือการลด/ยกเลิกมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศอย่างการพัฒนาระบบ ASEAN Single Window อันจะนำมาซึ่งการขยายตัวของมูลค่าการค้าการลงทุนในภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า