Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มีนาคม 2559

บริการ

คลาวด์คอมพิวติ้ง หนุนการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า ของภาคเอกชนไทย ปี 59 โตกว่าร้อยละ 19 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2718)

คะแนนเฉลี่ย

การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด ผู้ประกอบการสามารถทำการตลาดต่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้แบบทันที หรือด้านการควบคุมคุณภาพสินค้า เจ้าหน้าที่ควบคุมการผลิตสามารถตรวจสอบความผิดพลาดจากการผลิตได้แบบทันที และเข้าแก้ไขโดยไม่ต้องรอให้มีการผลิตสินค้าออกมาก่อน รวมถึงด้านการบริหารความเสี่ยงการลงทุน ผู้จัดการการลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนได้แบบทันที จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่กระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ เช่น ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า ภาคเอกชนจะลงทุนเอง หรือจะใช้บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งก็ได้ แต่การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนมากที่สุด เพราะช่วยให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าการลงทุนระบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเองทั้งหมด นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจโทรคมนาคม ค้าปลีก รวมถึง E-commerce และสถาบันการเงิน จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่หันมาใช้บริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลอยู่แล้ว และภาวะการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่รุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดบิ๊กดาต้าแบบลงทุนระบบวิเคราะห์ข้อมูลเองของภาคธุรกิจไทย สำหรับปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 1,084.6-1,109.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5-11.9 ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 ที่เติบโตร้อยละ 8.9 และมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดดังกล่าวน่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.6 ต่อปี โดยในปี 2564 มูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ 1,638.9 ล้านบาท

สำหรับ มูลค่าตลาดบริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งของภาคธุรกิจไทย ในปี 2559 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น่าจะอยู่ที่ราว 118.7-124.3 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 19.8-25.4 เมื่อเทียบกับปี 2558 แม้ว่ามูลค่าตลาดในปี 2559 จะมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่คาดว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดน่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 33.5-43.1 ต่อปี โดยในปี 2564 มูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ 629.6-967.2 ล้านบาท สูงกว่าปี 2559 ราว 6.6 เท่า สาเหตุหลักๆ มาจากภาวะการแข่งขันของภาคธุรกิจอย่างรุนแรง จะผลักดันให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อทำการตลาดมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม