Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 เมษายน 2559

บริการ

รถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่…เสริมศักยภาพการแข่งขันด้วยการตอบโจทย์การลดต้นทุนขนส่งสินค้าภายในประเทศ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2729)

คะแนนเฉลี่ย

โครงการรถไฟทางคู่ เป็นการก่อสร้างรถไฟทางใหม่อีก 1 เส้นทางคู่ขนานกับเส้นทางรถไฟเดิม เพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของการเดินรถและลดระยะเวลาสับหลีกขบวนอันเป็นอุปสรรคให้การขนส่งทางรถไฟล่าช้า สืบเนื่องมาจากภาครัฐได้มียุทธศาสตร์ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ อันเกิดจากความพยายามผลักดันการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนเป็นหลักไปสู่การขนส่งในรูปแบบผสมผสาน ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยที่ถูกกว่า เพื่อลดต้นทุนโลจิติกส์โดยรวมของประเทศลง

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก โดยมีพื้นที่การเกษตรกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ รวมทั้งยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท อาทิ ปูนซีเมนต์ และน้ำตาล ซึ่งนับว่ามีความสอดคล้องกับการขนส่งทางรางซึ่งเหมาะกับสินค้าประเภทเกษตรเทกอง อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าที่มีน้ำหนักมาก

จากปัจจัยดังกล่าวจึงน่าจะสนับสนุนให้การขนส่งทางรางเข้ามาเป็นห่วงโซ่สำคัญในการขนส่งสินค้าร่วมกับการขนส่งทางถนนได้ โดยเมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ซึ่งครอบคลุมไปยังหัวเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศแล้วเสร็จ จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนไปยังราง โดยก่อให้เกิดการรวบรวมสินค้าเกษตรในพื้นที่หัวเมืองดังกล่าว ก่อนจะขนส่งทางรางไปยังโรงงานแปรรูปหรือท่าเรือ และทำให้การขนส่งสินค้าทางรางไปยังหัวเมืองสำคัญเพื่อกระจายไปยังผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ สำหรับรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะมีระยะทางยาวต่อเนื่องไปยังหัวเมืองสำคัญอื่นเพิ่มเติมรวมถึงด่านการค้าชายแดนสำคัญ เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะยิ่งทวีปริมาณการขนส่งทางรางขึ้นไปอีกและจะสามารถทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากต้นทุนการขนส่งที่ประหยัดลงได้

ทั้งนี้ จากปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวมาข้างต้น จึงคาดว่าสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางภายในประเทศที่มีเพียงร้อย 1.1 ของการขนส่งภายในประเทศทั้งหมดในปัจจุบัน จะเพิ่มเป็นร้อยละ 18.2 เมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และเพิ่มเป็นร้อยละ 29.7 เมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟสายใหม่แล้วเสร็จ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าลงได้ โดยเมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ในปี 2564 จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศลงได้ประมาณร้อยละ 5.7 ต่อปี และเมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟสายใหม่แล้วเสร็จ ในปี 2567 จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศลงได้ประมาณร้อยละ

9.7 ต่อปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ