Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กรกฎาคม 2560

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

คาดครึ่งหลังปี’ 60 ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอจังหวะตลาดฟื้นตัว เพื่อลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยอย่างระมัดระวัง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2856)

คะแนนเฉลี่ย
​ ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ชะลอตัว สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะทรงตัวจากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับประเด็นท้าทายด้านแรงงาน ยังเป็นปัจจัยกดดันการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องลงทุนโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้รายได้ในอนาคต ส่งผลให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ผู้ประกอบการน่าจะยังรอจังหวะตลาดฟื้นตัว เพื่อลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2559 ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนของการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 น่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับปี 2559 ส่งผลให้ระยะเวลาดูดซับที่อยู่อาศัยคงค้างยาวนานขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 170,000-177,000 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 4-8 เมื่อเทียบกับปี 2559
สำหรับการลงทุนและการซื้อขายที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่สามารถปรับราคาขายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงการระบายที่อยู่อาศัยคงค้างกลุ่มคอนโดมิเนียมในทำเลที่ไม่ใช่พื้นที่หลักทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว อาจเป็นไปได้ช้า
จากจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้โจทย์ความท้าทายในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 น่าจะเป็นการระบายที่อยู่อาศัยคงค้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่าจะปรับกลยุทธ์นำเสนอที่อยู่อาศัยคงค้างไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติ โดยโครงการที่อยู่อาศัยที่สามารถปรับรูปแบบให้รองรับการอยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายกลุ่มได้ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้สูง เช่น โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการที่มีหน่วยเหลือขายจำนวนมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในระยะต่อไป เช่น ประเด็นท้าทายด้านแรงงาน จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับสูง ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น ในขณะที่ ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม