Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ธันวาคม 2548

การค้า

ธุรกิจสินเชื่อและบริการเพื่อการค้าปี 2549 ... เผชิญกับความท้าทาย เมื่อธุรกรรมระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลง

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2548 ธนาคารพาณิชย์เผชิญกับปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจสินเชื่อและบริการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) อันได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนของธนาคารในตลาดเงิน และการชะลอลงของมูลค้าการค้าระหว่างประเทศ (Trade Value) (โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2548 ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศใน 10 เดือนแรกของปี มีการเติบโต 21.59% คิดเป็นการชะลอลงจากการเติบโตที่ 24.86% ในปี 2547) รวมทั้งจากกระแสการแข่งขันในธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากการปรับสถานะของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้จำนวนสถาบันการเงินซึ่งสามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับลูกค้ารายใหญ่ในระบบมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในอนาคต

สินเชื่อและบริการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการเพื่อการค้าระหว่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ บริการเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันทางการค้า หรือเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit: L/C) บริการตั๋วเรียกเก็บสินค้า (Bill for Collection: B/C) สินเชื่อเพื่อการนำเข้า (Trust Receipt: T/R) สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออก (Packing Credit) บริการออกหนังสือค้ำประกัน (Shipping Guarantee) สินเชื่อ L/C และบริการอื่นๆ ได้แก่ บริการโอนเงินเข้า-ออกระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งบริการให้คำปรึกษา เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศของระบบสถาบันการเงินน่าที่จะมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของภาคการส่งออกและนำเข้าของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับในระยะหลายปีที่ผ่านมา หรือมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกต่อ GDP ที่ประมาณ 44.29% และ 45.70% ในปี 2540 มาอยู่ที่ 52.95% และ 65.64% ในปี 2547 ตามลำดับ คิดเป็นปริมาณนำเข้าและส่งออกที่เพิ่มขึ้นจาก 61,349 และ 56,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2540 มาอยู่ที่ 93,709 และ 94,941 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในด้านของรายได้ธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ยังคงมีแรงกดดันหลายประการที่อาจทำให้การเพิ่มขึ้นของปริมาณการทำธุรกรรมไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากัน กล่าวคือ รายได้จากดอกเบี้ยยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ที่มีผลต่อภาระต้นทุนของธนาคาร ซึ่งไม่สามารถชดเชยด้วยการปรับดอกเบี้ยสินเชื่อได้มากนัก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันในด้านราคาอยู่สูง ในขณะที่สำหรับรายได้จากค่าธรรมเนียมนั้น แนวโน้มการลดลงของรูปแบบการทำธุรกรรม L/C ส่งผลให้ธนาคารอาจต้องเร่งเพิ่มจำนวนการทำธุรกรรม (Turnover) ประเภทอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ต่อเนื่องจากปี 2548 จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์แล้ว ความรุนแรงในตลาดการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ก็เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดของผู้ซื้อ โดยมีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ที่มีอำนาจการต่อรองสูง เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ อันเป็นที่สนใจของสถาบันการเงินต่างๆ ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงการให้ความสนใจต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่มีขนาดธุรกิจเล็กลง หรือธุรกิจ SME ซึ่งมีบทบาทในตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากเร่งสร้างรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งปัจจัยกำหนดความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อและบริการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ความชำนาญในการตรวจสอบเอกสาร การกำหนดวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกค้า การสร้างกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว และง่ายในการทำธุรกรรม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินการเพื่อลดต้นทุนให้แก่ลูกค้า ประกอบกับการรุกหาลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อตอบรับกับปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งคงจะเป็นสิ่งท้าท้ายในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศสำหรับสถาบันการเงินต่างๆ ในปี 2549 ที่จะถึงนี้

การค้า