Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กุมภาพันธ์ 2549

บริการ

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ปี 49 : การพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ระดับการส่งออก

คะแนนเฉลี่ย

งานเทศกาลภาพยนตร์ "บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล" ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในช่วงระหว่างวันที่ 17-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย การเปิดโอกาสให้กองถ่ายจากต่างประเทศเข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง ในระยะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นมาก ทั้งในด้านตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2548 มีมูลค่าตลาดในประเทศประมาณ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่การส่งออกภาพยนตร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 960 ล้านบาท ทั้งนี้จะเห็นว่าภาพยนตร์ไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นและมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ

นอกจากการพัฒนาคุณภาพของภาพยนตร์แล้ว การเปิดตลาดหรือการอาศัยการตลาดมาช่วยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การเพิ่มโอกาสทางการตลาดด้วยการเข้าร่วมงานมหกรรมภาพยนตร์ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้สามารถจำหน่ายภาพยนตร์หรือบทภาพยนตร์ได้เพิ่มขึ้น ในการเปิดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศนั้น นอกจากผู้ชมจะมีโอกาสชมภาพยนตร์ที่หลากหลายแล้วยังจะเป็นการเปิดโอกาสทางการตลาดให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้นอกจากภาพยนตร์จะกลายเป็นสินค้าสำหรับส่งออกแล้ว ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ภาพยนตร์เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่สามารถเผยแพร่ไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาหาร บริการ หรือสินค้าประเภทอื่นๆ ของไทยเราได้ ความสำคัญของภาพยนตร์จึงไม่เพียงเป็นแหล่งความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอื่นๆของประเทศได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศนั้น ปัจจุบันยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการส่งออกภาพยนตร์ไปจำหน่ายเป็นสินค้า ทั้งนี้ปริมาณการผลิตภาพยนตร์ของไทยยังมีจำนวนน้อยมีสัดส่วนจำนวนเรื่องเพียงร้อยละ 13-15 ของจำนวนภาพยนตร์ที่ฉายทั้งหมดในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ปัญหาที่ผู้สร้างภาพยนตร์มักจะประสบอยู่เสมอคือปัญหาทางด้านเงินลงทุนที่มีค่อนข้างจำกัด และเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งปัญญาทางด้านคุณภาพของภาพยนตร์ตามมา นอกจากนี้ธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการผลิตยังขาดความเชื่อมโยงกันในลักษณะ value chain เช่น ธุรกิจตัดต่อภาพ การทำสเปเชี่ยลเอฟเฟล็ก เรียบเรียงเสียง เป็นต้น รวมทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงและการส่งเสริมจากภาครัฐที่ยังขาดทิศทางที่แน่นอนล้วนส่งผลต่อการพัฒนาภาพยนตร์ไทยทั้งสิ้น

แม้ว่าในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกภาพยนตร์กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย มูลค่าการส่งออกภาพยนตร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันการแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียเองนั้นก็มีค่อนข้างมาก เช่น ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น ที่มีการผลิตภาพยนตร์ทั้งฉายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่นเดียวกับประเทศไทย และยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากนานาประเทศต่างตระหนักว่าสินค้าภาพยนตร์นั้นกลายเป็นสินค้าในเชิงวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของ ประเทศและการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศไปสู่นานาประเทศและเกิดผลพวงที่ตามมาในการจำหน่ายสินค้าและบริการอื่นๆ ของประเทศไปสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย ยังต้องได้รับการผลักดันและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยเน้นที่ความร่วมมือจากทางภาครัฐและเอกชนทั้งทางด้านการเงินและการพัฒนาคุณภาพของภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้ในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ