Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มีนาคม 2549

บริการ

ธุรกิจค้าปลีกปี 2549 : ทรงตัว ... ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

คะแนนเฉลี่ย

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2548 แม้จะมีทิศทางการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในระดับอัตราการเติบโตร้อยละ 7 หรือคิดเป็นยอดขายธุรกิจค้าปลีกมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็นับเป็นระดับอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 ขณะที่ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกน่าจะอยู่ในภาวะค่อนข้างทรงตัวด้วยระดับอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 8-12 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ กิจกรรมการกระตุ้นการจับจ่ายจากบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งในด้านระดับอัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อในระบบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีภาระในการชำระหนี้และภาระค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มขึ้น หรือการที่ระดับราคาน้ำมันในประเทศที่คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูงที่จะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการต้องแบก ภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จนผู้ประกอบการบางรายอาจจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2548 ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลาง หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ และความผันผวนของการเมืองในประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ไข้หวัดนกที่อาจจะกลับมาอีก ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยโดยรวมในปี 2549 น่าเป็นไปในทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2548

ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันจะยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้นแน่นอนทั้งในรูปแบบของการขยายสาขา การแข่งขันทางด้านราคา และการสร้างความแตกต่างในส่วนของสินค้าและบริการ ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคในยุคค่าครองชีพแพงให้ได้มากที่สุด ดังนั้นปี 2549 จึงเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการค้าปลีกในเมืองไทยแต่ละรายต่างไม่สามารถหยุดนิ่งได้ แต่ต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันตลอดเวลาเพื่อพยายามรักษาฐานลูกค้าเก่า ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้เกิดขึ้นมาด้วย โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะยังคงมีความสามารถในการปรับตัวและสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ดีกว่าเมื่อเปรียบ เทียบกับผู้ประกอบการรายย่อย จึงนับเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายอีกปีสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยของไทยที่ต้องพยายามลดต้นทุนการดำเนินการให้ได้มากที่สุด และพยายามหาช่องทางในการสต็อกสินค้าไม่ให้มากจนเกินไป เพราะหากลงทุนไม่มากก็ย่อมมีโอกาสในการทำกำไรได้มากกว่าตามมา นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายย่อยก็ควรแสวงหาแนวทางการในการนำเสนอบริการที่ประทับใจ รวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการศึกษาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็วเช่นปัจจุบันได้รับความพึงพอใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ