Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มกราคม 2549

อุตสาหกรรม

รถจักรยานยนต์ไทยปี 49 : ตลาดภายในใกล้อิ่มตัว ... ตลาดส่งออกมีศักยภาพสูง

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2548 ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีความผันผวนค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ยังคงรุนแรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ทั้งระบบ(ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์) ประกอบกับสภาวะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัว ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2548 ค่อนข้างซบเซา โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งภาครัฐได้มีการประกาศลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหลังจากได้พยายามตรึงราคามาหลายปี ในขณะที่น้ำมันเบนซินก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดได้กระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ตลอดปี 2548 ยังคงมีการขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.0 ด้วยยอดขายประมาณ 2.11 ล้านคัน ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงมากเทียบกับที่ได้เคยเติบโตถึงร้อยละ 14.7 และร้อยละ 33.1 ในปี 2547 และ 2546 ตามลำดับ คาดว่าในปี 2549 ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศจะมีการขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมทั้งสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศเองที่ใกล้จะอิ่มตัว ทั้งนี้ ตลาดน่าจะเติบโตในอัตราเพียงร้อยละ 3 ด้วยยอดจำหน่ายรวมทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านคัน

ในขณะที่ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศที่กำลังจะอิ่มตัว อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกรถจักรยานยนต์กลับมีแนวโน้มขยายตัวอย่างเด่นชัด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค่ายรถจักรยานยนต์ต่างมองเห็นศักยภาพการขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนทำให้มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบของไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ประมาณว่าทั้งปี 2548 มูลค่าส่งออกจะขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 670 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าการส่งออกจะยังคงไปได้ดีต่อเนื่องในปี 2549 ด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 30-35 ทำให้มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบของไทยในปี 2549 น่าจะสูงถึงประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยค่ายรถต่างๆพยายามใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อรักษาหรือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดระหว่างกัน ทั้งนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆที่ครองตลาดอยู่จะเป็นค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆจากญี่ปุ่น รวมแล้วกว่าร้อยละ 90 ของยอดขายทั้งหมดในประเทศ อย่างไรก็ตามค่ายผู้ผลิต/จำหน่ายรายอื่นๆ ทั้งจากผู้ประกอบการคนไทย และจากประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซีย อีกทั้งรถจักรยานยนต์จากประเทศจีน ต่างกำลังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์มองว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวเข้าไปทุกที หลังจากที่ได้เติบโตต่อเนื่องมาหลายสิบปีจนทำให้ปัจจุบันสัดส่วนจำนวนรถจักรยานยนต์ต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยสูงถึง 1 คันต่อ 3-4 คน ด้วยจำนวนรถจักรยานยนต์ที่ใช้งานบนท้องถนนประมาณ 16 ล้านคันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามภาวะชะลอตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ประกอบกับแนวโน้มการอิ่มตัวของตลาดในประเทศ ได้กระตุ้นให้ผู้ประกอบการขยายตลาดส่งออกมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบเพื่อการส่งออกจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จะเห็นได้ว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบของไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง จากมูลค่ารวมที่ 246.9 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2544 ได้สูงขึ้นถึง 512.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 หรือมีอัตราขยายตัวสูงกว่า 2 เท่าในเวลาเพียง 3 ปี และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าส่งออกดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นถึง 609.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 30.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม