Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2549

อุตสาหกรรม

ตลาดรถจักรยานยนต์….ฝ่าวิกฤตยุคน้ำมันแพง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1862)

คะแนนเฉลี่ย
ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในขณะนี้อันเนื่องมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน รวมไปถึงปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนยอดขายรถยนต์ที่ลดลงร้อยละ 2.9 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 นี้ และในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยมีการคาดการณ์ว่ากำลังก้าวสู่ยุคของตลาดอิ่มตัวเข้าไปทุกขณะ ก็ดูเสมือนว่ายังพอมีความยืดหยุ่นที่จะรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 นี้ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศยังเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4.7 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับการขยายตัวทั้งปีร้อยละ 4.2 ในปี 2548 แม้ภาวะเศรษฐกิจได้ชะลอตัวอันเนื่องมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในขณะนี้ แต่ดูเหมือนว่าภาวะราคาน้ำมันแพงเมื่อถึงจุดหนึ่ง กลับส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มากกว่าตลาดรถจักรยานยนต์ ซึ่งจัดเป็นยานพาหนะที่มีราคาประหยัด อีกทั้งยังสิ้นเปลืองต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่ายานยนต์ประเภทอื่นๆ ตลาดรถจักรยานยนต์จึงสามารถปรับตัวจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ปี 2549 นี้ น่าจะเติบโตในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าในปี 2548 ที่ผ่านมามากนัก คือประมาณร้อยละ 2.5-3.0 ด้วยยอดขายประมาณ 2.17 ล้านคัน เทียบกับ 2.11 ล้านคันในปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ความนิยมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ออโตเมติกหรือเกียร์อัตโนมัติ มีส่วนช่วยให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีความคึกคักพอสมควร ทั้งนี้ในปี 2549 กระแสความนิยมในรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมียอดขายระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2549 สูงถึง 427,768 คัน อันเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงเกือบร้อยละ 246 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 3.46 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2548 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 33.8 จากยอดขายรวม ทำให้ปัจจุบันค่ายผู้ผลิตต่างๆ ได้หันมาผลิตรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในลักษณะนี้ สัดส่วนตลาดของรถจักรยานยนต์ประเภทนี้จะสูงเกินครึ่ง หรือกว่าร้อยละ 50-60 ของตลาดภายในปี 2550 ที่จะถึงนี้ โดยจะมียอดจำหน่ายขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแทนรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัว ที่ครองอันดับหนึ่งมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ในด้านการส่งออกรถจักรยานยนต์ก็มีแนวโน้มเติบโตที่ดีเช่นเดียวกับการส่งออกรถยนต์ ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีทีท่าว่าจะเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ก็ยังมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น จนเข้าสู่หลักเกิน 1 ล้านคัน ด้วยปริมาณส่งออก 1.337 ล้านคันในปี 2548 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,768 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 นี้ ปริมาณส่งออกรถจักรยานยนต์เท่ากับ 893,793 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม