Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มีนาคม 2550

การค้า

JTEPA ความตกลงเปิดเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น : ผลดี VS ข้อควรระวัง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1960)

คะแนนเฉลี่ย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ในวันที่ 3 เมษายน 2550 หลังจากประเทศไทยและญี่ปุ่นเริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 และบรรลุความตกลงในหลักการเมื่อเดือนกันยายน 2548 แต่การเจรจาดังกล่าวหยุดชะงักลงชั่วคราวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของไทย คาดว่าความตกลงเปิดเสรีทางการค้าไทย-ญี่ปุ่นจะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความตกลง JTEPA มีทั้งผลดีและข้อควรระวังที่ส่งผลต่อกลุ่มคนต่างๆ ในประเทศที่แตกต่างกันไป ในแง่ผลดี ถือเป็นการสนับสนุนให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรของญีปุ่นให้กับสินค้าส่งออกจากไทย ส่วนผู้บริโภคของไทยจะได้ประโยชน์จากราคาสินค้าบริโภคนำเข้าจากญี่ปุ่นที่ต่ำลง จากการลดภาษีศุลกากรของไทยให้กับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ ผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล ลูกเบอร์รี่ และพรุน นอกจากนี้ ความตกลง JTEPA จะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในไทยและดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาไทยมากขึ้น จากการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุน และจากการลดภาษีศุลกากรของไทยให้ญี่ปุ่น ทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากในไทยซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้า สามารถนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากญี่ปุ่นด้วยต้นทุนที่ต่ำลงจากการลดภาษีของไทย ท่ามกลางสถานกาณ์ปัจจุบันที่ภาคการส่งออกและการลงทุนของไทยถูกปัจจัยกดดันหลายประการ ภาคการส่งออกของไทยสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศเอเชียอื่นๆ ส่วนภาคการลงทุน ได้รับปัจจัยลบจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความไม่สงบในภาคใต้ และการแก้ไขกฎหมายภายในของไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติค้าปลีก ทำให้นักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนจากญี่ปุ่น เกิดความไม่มั่นใจในการเข้ามาลงทุนในไทย และมีแนวโน้มชะลอการลงทุนในไทยในช่วงปีนี้ เพื่อรอความชัดเจนในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และความสงบทางการเมืองเมื่อได้รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ผลดีอีกประการหนึ่ง คือ การส่งออกแรงงานไทยไปญี่ปุ่น จากการลดเงื่อนไขด้านคุณวุฒิการศึกษาให้พ่อครัวแม่ครัวไทยเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้สะดวกขึ้น แต่ญี่ปุ่นยังคงจำกัดสาขาแรงงานไทยที่จะเข้าไปทำงาน เช่น ผู้ให้บริการสปา/นวดแผนไทย ซึ่งเป็นสาขาธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ รวมทั้งผู้ดูแลคนสูงอายุ แต่ญี่ปุ่นยังไม่เปิดให้แรงงานไทยสาขาเหล่านี้เข้าไปทำงานในญี่ปุ่น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษาของไทย ซึ่งถือว่าทรัพยากรมนุษย์ที่มีการศึกษาที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ และยังเป็นการรองรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่ต้องการแรงงานมีฝีมือและแรงงานทางเทคนิคด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ที่สำคัญการจัดทำ JTEPA เป็นการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอาเซียนที่จัดทำ FTA กับญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งอินโดนีเซีย บรูไน และเวียดนามที่อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับญี่ปุ่นด้วย
ผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นด้วยต้นทุนต่ำลงจากการลดภาษีศุลกากรของไทย แม้ว่าจะมีเวลาปรับตัว 5-11 ปี ก่อนที่ภาษีจะลดลงเหลือ 0% ก็ตาม ภาครัฐจึงควรเร่งรัดดำเนินการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเพื่อปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรี FTA สำหรับประเด็นสำคัญที่เป็นข้อกังวลของภาคประชาชนซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและสังคม ได้แก่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และบริการสาธารณสุข ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐควรเร่งชี้แจงทำความเข้าใจให้มากขึ้นอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและลดกระแสกดดันของการคัดค้านการลงนามความตกลง JTEPA นอกจากนี้ ในช่วงเวลาก่อนที่ความตกลง JTEPA จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะมีระยะเวลา 6 เดือน หลังจากการลงนามความตกลงฯ ภาครัฐควรเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในให้พร้อมรองรับต่อการเปิดเสรีและข้อผูกพันภายใต้ความตกลงฯ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย โดยเฉพาะเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลในระยะยาวต่อชีวิต/ความเป็นอยู่ของคนและระบบนิเวศน์ในสังคม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า