Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤษภาคม 2550

การค้า

สหรัฐฯ-ไทย : ระวังผลกระทบการค้า หลังไทยขึ้นบัญชี PWL (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1984)

คะแนนเฉลี่ย
สหรัฐฯ ประกาศผลการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของประเทศคู่ค้าในรายงาน ;Special 301” ที่ออกเผยแพร่ในวันที่ 30 เมษายน 2550 ไทยถูกสหรัฐฯ ลดระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากระดับเดิมที่อยู่ในบัญชีจับตา (WL) ตั้งแต่ปี 2538 เป็นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ซึ่งมีประเทศทั้งหมดรวม 12 ประเทศที่อยู่ในบัญชี PWL นี้ ได้แก่ จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี อิยิปต์ อินเดีย อิสราเอล เลบานอน ไทย ตุรกี ยูเครน และเวเนซูเวลา เป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในบรรดา 12 ประเทศดังกล่าว ที่ถูกสหรัฐฯ ลดระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากเดิมที่อยู่ในบัญชีจับตา (WL) และนับเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) คาดว่า การบังคับใช้สิทธิของไทยในการผลิตและนำเข้ายารักษาโรค 3 รายการ ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ 2 รายการ และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 รายการ น่าจะเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในครั้งนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่ไทยถูกสหรัฐฯ ปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ในปีนี้ จากเดิมที่อยู่บัญชีจับตา (WL) มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2538 เป็นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้านการค้าและการลงทุน ดังนี้
ผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทย
การถูกสหรัฐฯ ปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย นอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทยในสายตาของนักลงทุนสหรัฐฯ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับบัญชีที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารุนแรงน้อยกว่าไทย อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ พิจารณาหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายภายในของไทยยังมีความไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ค้าปลีก ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในไทยในปีนี้
ผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ
การที่สหรัฐฯ ลดระดับบัญชีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเป็นระดับที่มีความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลต่อการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ กำหนดให้การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษ GSP กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการทบทวนรายการสินค้าที่ให้สิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 คาดว่า อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มจะถูกตัดสิทธิ GSP ในปีนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกตัดสิทธิ GSP ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ในปี 2550 และจะส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา 5.5% (Most-Favored Nation Rate : MFN Rate) จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเสียเปรียบด้านราคากับประเทศคู่แข่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างอินเดีย และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย และขณะนี้ครองส่วนแบ่งตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐฯ มากกว่าไทยอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า