Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 พฤษภาคม 2550

บริการ

ทีวีสาธารณะ : เปิดรูปแบบธุรกิจโทรทัศน์ใหม่เพื่อคนไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1967)

คะแนนเฉลี่ย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกสัมปทานการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์จากบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีมาเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีแทน และมีมติแปลงสภาพกิจการสถานีโทรทัศน์ "ทีไอทีวี" หรือ "ไอทีวีเดิม" ให้ยกระดับไปสู่บทบาทของการเป็น "ทีวีสาธารณะ” ซึ่งความหมายก็คือ สถานีโทรทัศน์ที่เน้นการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเนื้อหาสาระที่นำเสนอปราศจากการครอบงำจากรัฐบาลและกลุ่มทุนใดๆ มีหน่วยงานตรวจสอบเนื้อหาที่ถ่ายทอด หรือการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เน้นรายการข่าวและสารคดีเช่นเดียวกับที่ออกอากาศในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ในปัจจุบันที่เน้นการผลิตรายการโทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์ สามารถผลิตรายการเพื่อออกอากาศได้ทั้งรายการที่เป็นสาระและบันเทิง โดยเน้นความนิยมของรายการ และสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การจัดให้มีสถานีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทย นั้นมีทั้งข้อดีและข้อควรระวังที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมของประเทศ ในแง่ของผลดีนั้น การให้บริกาณโทรทัศน์แบบสาธารณะน่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้รับชมรายการให้ได้รับชมรายการที่ดี มีประโยชน์และสามารถสร้างเส้นทางต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศได้ โดยผ่านสื่อโทรทัศน์ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ในวงกว้างมากที่สุด เป็นทางเลือกให้กับผู้ชมที่ต้องการรับชมรายการที่ดี มีสาระมากกว่าที่จะมีเพียงสถานีโทรทัศน์ที่เน้นเพื่อความบันเทิงและให้บริการในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อพึงระวังในการบริหารของสถานีโทรทัศน์สาธารณะก็มีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคุณภาพของรายการที่ผลิต ซึ่งจะไม่เน้นรายการทางด้านบันเทิง แต่รายการที่ออกอากาศก็จำเป็นที่จะต้องมีความดึงดูดผู้ชมได้มากพอสมควร การผลิตรายการเชิงสาระที่น่าติดตามนั้นยังมีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย ทำให้ขาดบุคลากรทางการผลิตรายการทางด้านนี้ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับช่วงระยะเวลาในการจัดตั้งสถานีซึ่งค่อนข้างสั้น นอกจากประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมหรือบริหารสถานีก็ต้องมีความโปร่งใสสามารถทำงานโดยอิสระอย่างแท้จริงโดยปราศจากการครอบงำจากกลุ่มใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน และประเด็นทางด้านการจัดสรรรายได้ให้กับช่องโทรทัศน์สาธารณะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนให้สามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว ซึ่งงบประมาณในการจัดสรรรายได้ให้กับสถานีนั้นน่าจะมีจากหลายๆ แหล่ง เช่น ในรูปแบบของกองทุน เป็นต้น
แม้ว่ารูปแบบการจัดให้มีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทยจะเป็นรูปแบบที่ดีที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ในภาวะที่การแข่งขันของธุรกิจโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนั้นตั้งเป้าหมายเพื่อช่วงชิงรายได้ที่มาจาการโฆษณาเป็นหลักทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดหรือมีรายการที่ส่งเสริมความรู้ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ชมหรือพลเมืองของประเทศขาดทางเลือกในการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง และขาดทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ในลักษณะกลุ่มเฉพาะ การเพิ่มทางเลือกโดยผ่านโทรทัศน์สาธารณะก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สถานีโทรทัศน์สาธารณะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสื่อในประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ยังมีจำนวนช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศเพียงไม่กี่ราย ทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างไม่สมบูรณ์และความหลากหลายของรายการน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว การเร่งเปิดให้มีธุรกิจโทรทัศน์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาเข้ามาช่วยเสริมให้การแข่งขันในธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และมีการกำหนดกลไกเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การพัฒนารูปแบบของธุรกิจโทรทัศน์ในประเทศไทยสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยความโปร่งใสและมีรายการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ความบันเทิงกับผู้ชมแล้วยังสามารถใช้เพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนในชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ