Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กันยายน 2550

อุตสาหกรรม

ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยตกต่ำสุดในรอบทศวรรษ ... แต่ส่งออกยังเติบโตดี (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2045)

คะแนนเฉลี่ย
ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้ได้ถดถอยลงอย่างมาก คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ตลอดปี 2550 นี้ จะมีเพียงประมาณ 1.7-1.8 ล้านคัน หรือลดลงร้อยละ 12-17 อันจะเป็นการถดถอยของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-41 ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่แน่ชัดว่าการฟื้นตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศกลับไปสู่ระดับยอดขาย 2 ล้านคันต่อปีเหมือนเช่นในอดีต 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอันใกล้หรือไม่ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ไทยปี 2550 ไว้ดังนี้
1. ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอนตลอดช่วง 7-8 เดือนแรกของปี ประกอบกับความล่าช้าของโครงการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเงินใช้จ่ายที่ไปสู่ระดับท้องถิ่นในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นตลาดหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดยานยนต์ในประเทศซึ่งซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 ยอดขายรถจักรยานยนต์มีเพียง 1,122,603 คัน ลดลงร้อยละ 16.8 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2549
2. โครงสร้างตลาดรถจักรยานยนต์ที่กำลังเข้าสู่การอิ่มตัวนับเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่มีผลต่อภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศ ทั้งนี้หลังจากที่ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยได้เติบโตต่อเนื่องมาหลายปี ปัจจุบันสัดส่วนจำนวนรถจักรยานยนต์ต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยสูงถึง 1 คันต่อ 3-4 คน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วที่สัดส่วนจำนวนรถจักรยานยนต์ยังต่ำ คือเพียง 1 คัน ต่อประชากรถึง 8 คน โครงสร้างตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยใกล้ถึงจุดอิ่มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน อย่างเช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ปัจจุบันอัตราการเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ ของเวียดนามคือ 1 คันต่อประชากร 6-7 คน ของอินโดนีเซียคือ 1 คันต่อ 10 คน และฟิลิปปินส์คือ 1 คันต่อประชากรถึง 40 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันโครงสร้างการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่สัดส่วนมูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปลดลง ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์กลับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ในปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 19.2 มาอยู่ที่ 430.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2550 ยังเติบโตต่อเนื่องอีกถึงร้อยละ 60 ด้วยมูลค่า 350.3 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในทางตรงข้าม มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์ในปี 2549 มีเพียง 265 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.6 และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2550 มีมูลค่า 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงอีกร้อยละ 18.6 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อย่างเช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ภายในประเทศ จึงมีการลดหรือจำกัดการนำเข้ารถสำเร็จรูป ในขณะที่โรงงานรถจักรยานยนต์ในประเทศเหล่านี้มีการนำเข้าชิ้นส่วนเข้าไปประกอบภายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จากขนาดของตลาดตลอดจนความต้องการรถจักรยานยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายๆ ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี ในขณะที่ปัจจุบัน กำลังการผลิตในประเทศเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับแนวโน้มดังกล่าวได้ ดังนั้นการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบจากประเทศไทยซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้ จึงจะยังคงมีบทบาทอยู่ต่อไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบในประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ตลาดภายในประเทศจะได้เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้วก็ตาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม