ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชเกษตรที่มีศักยภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย คือ ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ และเห็ดฟาง ภายใต้เกณฑ์การวิเคราะห์ที่กำหนด คือ 1) เป็นพืชที่มีระดับโปรตีนสูงใกล้เคียงกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์คือ มีปริมาณโปรตีนร้อยละ 13-23 ต่อน้ำหนักอาหาร 2) เป็นพืชที่ไทยมีศักยภาพในเชิงผลผลิต/ขายได้ราคาดี/ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น/มีสายพันธุ์ไทย และ 3) เป็นพืชที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อันจะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านอุปทาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และยังสร้างผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแห่งอนาคตเป็นของไทยเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการใช้ถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้า โดยคาดว่า ในปี 2564 มูลค่าถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย อาจมีมูลค่าราว 300-500 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการเลือกพืชเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่งมาใช้ทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาปัจจัยท้าทายอื่นเพิ่มเติมนอกจากการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณภาพและราคาของพืชเกษตรที่เลือกมาเมื่อเทียบกับวัตถุดิบหลักที่นิยมในตลาด โดยพืชเกษตรแต่ละชนิดก็มีข้อดี/ข้อเสียแตกต่างกันไปในแต่ละรายละเอียด ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมีการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละซัพพลายเชนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น