Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ธันวาคม 2565

การค้า

ครบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว ... เพิ่มทางเลือกการส่งออกผ่านแดนไทยไปสู่พื้นที่ศักยภาพใหม่ในจีน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3369)

คะแนนเฉลี่ย

​  ท่ามกลางการส่งออกของไทยไปยังจีนในภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทเติบโตเชื่องช้าที่ 2.8% ขณะที่การค้าผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันหดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

•    การขนส่งผ่านแดนทางบกไปจีนเป็นทางเลือกช่วยกระจายสินค้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้นควบคู่ไปกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่ยังคงเป็นช่องทางหลักในการส่งสินค้าไทยไปจีน ในช่วงโควิด-19 ระบาดช่องทางการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการระบายสินค้าเข้าสู่จีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

•    การขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมีจุดแข็งที่มีช่องทางการขนส่งหลากหลายและรวดเร็ว โดยรวมแล้วมี 4 เส้นทาง สามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงปลายทางประเทศจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน ซึ่งเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักมากขึ้นอีกจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567 โดยน่าจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวร่นระยะเวลาขนส่ง และคาดว่าจะมีการส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทในปีแรก

•    กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า แม้การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวมช่วงมกราคม-ตุลาคมปี 2565 จะหดตัว แต่การส่งออกผ่านแพนไปยังพื้นที่จีนตอนใต้ยังเติบโต ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 1,569 ล้านบาท ในเบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน

•    การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทยที่ปัจจุบันก็ทำตลาดได้ดีอยู่แล้ว รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู และเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งได้ทั่วจีน เชื่อมการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปได้

  อย่างไรก็ดี ด้วยภาพเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี 2565 แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท ในระยะต่อไปคงต้องจับตา แนวทางการผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก ประกอบกับแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนไทยทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภคที่มีสัดส่วนถึงเกือบ 60% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน และสินค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าแตกต่างจากสินค้าจีนจึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่สินค้าไทยยังทำตลาดได้ต่อเนื่อง อาทิ อาหารแปรรูป ผลไม้สด ขนมขบเคี้ยว เครื่องสำอาง สมุนไพรไทย สินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป อาหารฮาลาลที่ยังมีโอกาสทำตลาดชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่อย่างคับคั่งในจีนตะวันตก รวมทั้งสินค้าขั้นกลางอีก 40% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่สำคัญของไทยอย่างยางพารา เม็ดพลาสติก สินค้าเหล่านี้ล้วนมีโอกาสส่งไปสนับสนุนการผลิตในพื้นที่อุตสาหกรรมตอนกลางของจีนที่กำลังเติบโตต่อไปได้อีก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม