การระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร และนโยบายการให้พนักงานทำงานที่พัก (Work from Home) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้ทั้งปี 2564 มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก Food Delivery (ฐานคำนวณใหม่ ได้รวมสินค้าในหมวดเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ น้ำผลไม้ เป็นต้น) เติบโตกว่า 46.4% (YoY) สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมวลข้อมูลจากความร่วมมือของ LINE MAN Wongnaiและข้อมูลในตลาด โดยมีมุมมอง ดังนี้
- ทิศทางตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก Food Delivery ปี 2565 คาดว่าจะปรับขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง พร้อมขยายฐานร้านค้าและกลุ่มลูกค้าใหม่ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และความคุ้นชินของผู้บริโภค ส่งผลให้ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคในปี 2565 จะอยู่ที่ 477 (ฐาน 100 ที่ปี 2561) เพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564
- ราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่จำกัด โดยการเพิ่มขึ้นเป็นผลหลักจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ ความหลากหลายและจำนวนร้านอาหารสะสมที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการรุกขยายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ก็สูงอยู่แล้ว จะทำให้การแข่งขันในตลาดยังมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- มูลค่าตลาด Food Delivery จะยังเติบโตต่อเนื่องในระดับที่ชะลอลง จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการสั่งและราคาดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดการสั่งอาหารยังที่พักในปี 2565 (ฐานคำนวณใหม่ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม) จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ Omicron มีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด นอกจากนี้ยังคาดว่ากลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม ได้แก่ ร้านอาหาร Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ทร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน
โดยสรุป ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้บริโภคยังมีความเปราะบางด้านกำลังซื้อ และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากราย ผู้ประกอบการร้านอาหารยังจำเป็นต้องพึ่งพาช่องทาง Food Delivery โดยเน้นไปที่เมนูอาหารที่ชูความคุ้มค่าด้านราคาและคุณภาพ มีเอกลักษณ์ที่หาทานที่อื่นได้ยาก เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ยังจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนทั้งวัตถุดิบ แรงงาน ครัวกลาง ช่องทางการขาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระแสเงินสดและมีส่วนต่างกำไรหล่อเลี้ยงกิจการอย่างสม่ำเสมอ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น