ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่อเนื่องถึงปี 2567 รายได้คนไข้ต่างชาติ ซึ่งรวมคนไข้ต่างชาติที่ทำงานในไทย (EXPAT) และคนไข้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามารับการรักษา (Fly-in / Medical Tourism)) ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) น่าจะเติบโตชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของการทยอยปรับฐานสู่สถานการณ์ก่อนโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว กระทบต่อกำลังซื้อของคนไข้ต่างชาติบางส่วน
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า รายได้คนไข้ต่างชาติรวมของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราว 8.0-10.0% (YoY) เติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2565-2566 ที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นการปรับฐานสู่สถานการณ์ก่อนโควิด-19 ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และจำนวนคนไข้ต่างชาติในปี 2567
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รายได้จากคนไข้ Fly-in น่าจะทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและน่าจะมีสัดส่วนรายได้ในปี 2567 ราว 49% ของรายได้คนไข้ต่างชาติรวม ขณะที่สัดส่วนรายได้คนไข้ EXPAT จะอยู่ที่ 51% ของรายได้คนไข้ต่างชาติรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จำนวนคนไข้ต่างชาติจะอยู่ที่ราว 3.07 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 แต่ยังให้ภาพการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันกำลังซื้อและการตัดสินใจเดินทาง โดยตลาดคนไข้ Fly-in ในปี 2567 ยังมีคนไข้หลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ชาวตะวันออกกลางที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และ 2) คนไข้ในอาเซียน นอกจากชาวกัมพูชาและเมียนมากลุ่มที่มีกำลังซื้อแล้ว ยังมีคนไข้เวียดนามและอินโดนีเซียที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ สำหรับการกลับมาของคนไข้จีนนั้น ยังต้องติดตามประเด็นความเชื่อมั่นในการเดินทางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางส่วนชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนคนไข้ EXPAT เดินทางกลับเข้ามาหลังโควิด-19 คลี่คลาย และมีโอกาสเติบโตในพื้นที่เศรษฐกิจ อย่างชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ ทั้งนี้ ต้องติดตามผลของนโยบายดึงดูดการลงทุนและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐ จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของธุรกิจต่างชาติ และส่งผลต่อจำนวนคนไข้ EXPAT ในอนาคต
นอกจากปัจจัยกดดันการเดินทางมารักษาพยาบาล มองไปข้างหน้า โรงพยาบาลเอกชนยังมีการแข่งขันสูง จากทั้งผู้เล่นรายใหม่ในประเทศที่ขยายธุรกิจสู่บริการทางการแพทย์มากขึ้น และการแข่งขันกับ Medical Hub ในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีการยกระดับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งมีข้อได้เปรียบด้านค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนที่ยังยืนตัวสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ความสามารถการทำกำไรของผู้ประกอบการแต่ละรายในระดับที่แตกต่างกัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น