ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศ ที่มีการผ่อนคลายเงื่อนไขสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศ สะท้อนได้จากผลการจัดอันดับ Asia’s travel readiness index ของ Economist Intelligence (EIU) พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ (วัดจากผลคะแนนเป็นอันดับที่ 4) ของประเทศที่มีมาตรการผ่อนการเดินทางท่องเที่ยว (Ease of Travel) ในภูมิภาคเอชีย (28 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ) และการที่ทางการมีการผ่อนคลายเงื่อนไขในวันที่ 1 พ.ค. 65 โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบไม่ต้องตรวจ RT-PCR และการปรับลดวงเงินประกันภัยสำหรับชาวต่างชาติทุกกลุ่มเหลือ 10,000 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 20,000 เหรียญสหรัฐรวมถึงการเปิดจุดผ่านแดนถาวร 31 ด่าน ใน 17 จังหวัด เพื่อเปิดรับการเดินทางท่องเที่ยวทางบก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนคลายครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว และช่วยให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ กลับมามีบรรยากาศที่สดใสขึ้น ซึ่งการปรับเงื่อนไขครั้งนี้เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว และที่สำคัญยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากในหลายประเทศได้กลับมาทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวและผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัตซีนสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว (Vaccinated Travel Lane - VTL) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจเดินทางยังต่างประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเดินทางต่างประเทศของประเทศต้นทาง การดำเนินนโยบายปลอดโควิด (Zero COVID Policy) ของจีน ประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน แต่หากปัจจัยแวดล้อมตลาดมีภาพบวกที่ชัดเจนขึ้น ก็มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวนมากกว่าที่คาด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น