เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้ ทางการไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสและเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อโควิดทั้งก่อนและเดินทางมาถึงไทย โดยการกำหนดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยงและเงื่อนไขในการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ยังต้องรอการพิจารณาเพิ่มเติมจากทางการ นอกจากนี้ ทางการมีแผนที่จะเปิดจังหวัดเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยในเดือนพ.ย. 64 จะเปิดพื้นที่นำร่องรวม 15 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดที่ต้องไม่มีการระบาดรุนแรงหรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ยาวนาน อีกทั้ง ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีคาบเกี่ยวไปถึงช่วงต้นปีถัดไป นับว่าเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่แม้จะนิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดและนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ในบางประเทศยังกำหนดให้ต้องมีการกักตัวหลังเดินทางกลับ เป็นต้น ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในช่วง พ.ย. - ธ.ค. 64 อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายเดือนธ.ค. นี้
โดยผลจากการเปิดประเทศ น่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5 แสนคน) สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท โดยรายได้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ยังกระจายอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง คงจะช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของภาค การท่องเที่ยวไทยมีความชัดเจนมากขึ้นอีกในช่วงปี 2565
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น