Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2564

ท่องเที่ยว

โควิด-19 ระลอกสาม ฉุดท่องเที่ยวไตรมาส 2 … คาดครึ่งแรกปี’ 64 รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยหายไปคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.30 แสนล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3209)

คะแนนเฉลี่ย

ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2564 พร้อมกับการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเป็นระลอกที่ 3 อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นข่าวร้ายต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มกลับมาสู่เส้นทางการฟื้นตัวหลังจากที่ต้องหยุดชะลอลงจากเหตุการณ์การระบาดของโควิดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาล่าสุด พบว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในเดือน ก.พ, 64 เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากเดือนม.ค. 64 ซึ่งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ตลาดไทยเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเหลือเพียง 4.51 ล้านคน-ครั้ง และจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 นี้ พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกระจายไปในอีกหลายจังหวัดตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. นั้น ทำให้ทางการต้องยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดอีกครั้ง การขอความร่วมมือทำงานที่บ้านและงดการเดินทางข้ามจังหวัด

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 นี้ ต่างต้องปรับเลื่อนแผนการการท่องเที่ยวออกไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่าง 10-18 เมษายน 2564 อาจทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวสูญเสียรายได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม เมื่อเดือน มี.ค. 64)[1]  

นอกจากนี้ ภายใต้ความเสี่ยงที่การควบคุมการระบาดระลอก 3 ที่น่าจะใช้ระยะเวลานานกว่ารอบก่อนหน้า เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสูงและการแพร่เชื้อที่เร็ว ซึ่งกระทบต่อแผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงไตรมาส 2 ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การระบาดของโควิดทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น น่าจะส่งผลกระทบทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท คิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.30 แสนล้านบาท เทียบกับคาดการณ์เดิม ณ ม.ค. 64[2]

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ คือ การสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องวัคซีน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนคงจะต้องกลับมาร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดของโรคให้จบในเร็ววัน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ยังควรจะต้องรักษาระดับมาตรฐานการป้องกันที่เข้มงวด เนื่องจากโรคโควิดยังไม่ยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องดำเนินการอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง



[1] เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่า 34,000 ล้านบาท

[2] เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้คนไทยเที่ยวในประเทศช่วงครึ่งแรกปี 2564 สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่า 385,400 ล้านบาท​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ท่องเที่ยว