เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ "มาตรการรองรับการเปิดประเทศ" โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค. 64 ทั้งนี้ จากความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะที่ 2 สามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนในวันที่ 1 ก.ค. 64 นี้ โดยจังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต (เริ่มวันที่ 1 ก.ค. 64) และสุราษฎร์ธานี ในพื้นที่เกาะสมุย เกาะเต่า และเกาะพะงัน (เริ่มวันที่ 15 ก.ค. 64) โดยพื้นที่นำร่องดังกล่าวมีความพร้อมระดับหนึ่ง สะท้อนจากความคืบหน้าในการฉีดวัดซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะภูเก็ต ที่อัตราการฉีดวัคซีนสะสมเข็มที่ 1 ครอบคลุมประมาณ 67% ของจำนวนประชากรในพื้นที่แล้วจนถึง ณ วันที่ 28 มิ.ย. อย่างไรก็ดี ในแต่ละจังหวัดการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ประกาศในราชกิจจาฯ
ทั้งนี้ หลังจากที่แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวระยะที่ 2 มีความชัดเจนนั้น ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว อย่างธุรกิจโรงแรมและที่พักกลุ่มที่มีความพร้อมและมีมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย (SHA+) เริ่มทำตลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับสายการบินนานาชาติระหว่างประเทศที่ได้เปิดเส้นทางบินตรงมาภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 ขณะที่ในด้านของความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เริ่มมีการตอบรับเพิ่มขึ้น กระนั้นก็ดี แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้ นับเป็นบททดสอบสำคัญ โดยยังต้องขึ้นอยู่กับการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งหากในภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ได้ น่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ในระยะถัดไป โดยเฉพาะในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งสายการบินนานาชาติจากยุโรปมีแผนที่จะเปิดเส้นทางการบินมายังภูเก็ตในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ขณะที่ สิ่งเหล่านี้ยังต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังและรักษาระดับมาตรฐานการป้องกันการระบาดของโควิดที่เข้มงวด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ทางการไทยได้ตั้งเป้าหมายก้าวต่อไปที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วัน (ประมาณต้นไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลท่องเที่ยว) เป็นแนวทางที่ดี เพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ อย่างไรกีดี ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ และการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอนสูงและปัจจัยต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดกรอบบนของประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 นี้ลงเป็น 6.5 แสนคน โดยเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ยังคงกรอบล่างของประมาณการไว้ตามเดิมที่ 2.5 แสนคน ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ยังคงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการดำเนินแผนการเปิดการท่องเที่ยวทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปหลังจากนั้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น