Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 สิงหาคม 2561

การค้า

ส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ก.ค. 61 หดตัวครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3757)

คะแนนเฉลี่ย

​         มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยพลิกกลับมาขาดดุล 516.2 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค. 2561 ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2561 ไทยมีมูลค่าเกินดุลการค้าลดลงมาอยู่ที่ 2,939.4 ล้านดอลลาร์ฯ โดยการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 8.3 YoY จากการส่งออกสินค้าหลักที่เติบโตดีตามการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับราคาน้ำมันดิบโลกอยู่สูงกว่าช่วงวเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 10.5 YoY ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์มาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีประกอบกับการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งระดับราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

          การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนชะลอตัวในเดือนก.ค. 2561 ท่ามกลางประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ที่ร้อยละ -1.9 YoY จากการหดตัวของการส่งออกเครื่องจักรและส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ในขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 YoY จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรม/อุตสาหกรรม การส่งออกไม้แปรรูป รวมถึงรถยนต์นั่ง

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อนานาประเทศจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อนที่จะทำให้เส้นทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 11.0 ทำให้ตลอดทั้งปี 2561 มูลค่าส่งออกสินค้าไทยน่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี

           ​อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ (1) ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ในปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ และในวันที่ 23 ส.ค. 2561 สหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 25 จากการนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ฯ (2) ปัญหาเศรษฐกิจตุรกีที่คาดว่าจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2562 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก รวมไปถึง (3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่อาจจะส่งผลต่อความผันผวนในราคาน้ำมันดิบโลก 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม