Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 สิงหาคม 2562

การค้า

ส่งออกไทย ก.ค. 62 พลิกเป็นบวกจากการส่งออกทองคำ คาดไตรมาส 3 ขยายตัวจากการเร่งส่งออกก่อนสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3815)

คะแนนเฉลี่ย

          ส่งออกทองคำพุ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ช่วยหนุนภาพรวมส่งออกไทยเดือนก.ค. 2562 พลิกเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือนก.ค. 2562 อยู่ที่ 21,205 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 4.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูง ทั้งนี้ เมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำ ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในเดือนก.ค. 2562 หดตัวร้อยละ 0.4 โดยเป็นการหดตัวในการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) และตลาดสหภาพยุโรป ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปยังคู่ค้าสำคัญ อย่างญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวสูง

            การส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกในเดือนก.ค. 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหลังสหรัฐฯ เริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน อีกทั้งยังเป็นผลจากการเริ่มตุนสินค้าระลอกใหม่ของผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ก่อนมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในช่วงปลายปี นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดจีนในขณะนั้น จึงทำให้การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งของไทยไปยังจีนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ และจีนที่ขยายตัวดีในเดือนก.ค. 2562 ยังไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ เนื่องจากการเร่งตุนสินค้าก่อนมีการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

          ​การส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2562 น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกหลังจากติดลบในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 จากการเร่งส่งออกนำเข้าก่อนที่สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในอัตราร้อยละ 10 ในวันที่ 1 ก.ย. และวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี 2562 ได้แก่ การชะลอตัวของ 4 เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการส่งออกสินค้าไทยตลอดปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 0.0 โดยมีกรอบการขยายตัวที่ร้อยละ -2.0 ถึง 1.0