Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 ตุลาคม 2562

การค้า

เศรษฐกิจโลกชะลอฉุดส่งออกไทย (ไม่รวมทอง) ไตรมาส 3 หดตัว 4.5% ไตรมาสสุดท้ายลุ้นบวกจากการเร่งนำเข้าของสหรัฐฯ กับจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3827)

คะแนนเฉลี่ย

​​​​       มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนก.ย. 2562 แม้จะหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (Consensus) ซึ่งให้ภาพเดียวกันการส่งออกสินค้าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแรงกว่าที่คาด และผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือนก.ย. 2562 หดตัวร้อยละ 1.4 แม้จะลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (Consensus) โดยในเดือนก.ย. นี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าว ยาวพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงหดตัวสูงบนเลขสองหลัก ทำให้เป็นแรงฉุดต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทย ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนก.ย. พลิกกลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.2 จากแรงหนุนของการส่งออกยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการส่งออกทองคำที่ขยายตัวดี ซึ่งเมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำแล้ว การส่งออกสินค้าไทยหดตัวร้อยละ 2.8 YoY

       การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐฯ และจีนขยายตัวเป็นบวกสวนทางกับภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยที่หดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหลังสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงในการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน ก็ได้อานิสงส์จากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบล่าสุดที่จีนจะมีการปรับขึ้นภาษีการนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 25 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธ.ค. 2562) จึงทำให้จีนหันมาเร่งนำเข้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

         โดยในเดือนก.ย. 2562 ดุลการค้าจากทองคำขาดดุลในรอบ 4 เดือน โดยมีการขาดดุลทองคำที่มูลค่า 199.5 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ดุลการค้ารวมในเดือนก.ย. เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยเรื่องทองคำดังกล่าวเป็นการลดทอนแรงกดดันที่มีต่อการแข็งค่าของเงินบาทในเดือนก.ย. นี้

           ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 ไว้ที่กรอบประมาณการร้อยละ (-)2.0 ถึงร้อยละ 0.0 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 การส่งออกสินค้าของไทยน่าจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ จากอานิสงส์ของฐานที่ต่ำในปีก่อนหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในรอบก่อนหน้า ประกอบกับสหรัฐฯ และจีนน่าจะมีการเร่งนำเข้าสินค้าอีกระลอกก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันในวันที่ 15 ธ.ค. 2562


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม