Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กุมภาพันธ์ 2562

การค้า

ไทยลดบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลก…ปัจจัยฉุดรั้งส่งออกไทยในอนาคต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2964)

คะแนนเฉลี่ย

​​           การส่งออกของไทยในปี 2018 ขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถูกผลักดันด้วยปัจจัยด้านราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกของไทยจะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าขั้นกลางมีสัดส่วนสูงสุดในการส่งออกของไทยทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับประเทศต่างๆ มีความสำคัญต่อการค้าไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยเริ่มส่งสัญญาณของการชะลอตัวและมีสัดส่วนที่ลดลง ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายกลับสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม การส่งออกสินค้าขั้นกลางของเวียดนามและฟิลิปปินส์ขยายตัวได้ดีและได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นว่าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีบทบาทที่ลดลงในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลให้ไทยเสียโอกาสที่จะกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต

          ทั้งนี้ การที่เวียดนามและฟิลิปปินส์เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานแทนที่ไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยไม่สามารถแข่งขันด้านค่าแรงได้ ซึ่งส่งผลให้ไทยไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในฐานการผลิตที่ไทยได้ นอกจากนี้ แม้ว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้น แต่ปัจจุบันสินค้าขั้นสุดท้ายที่ไทยผลิตส่วนมากมีมูลค่าเพิ่มไม่สูงนัก อีกทั้งไทยยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศสูงและนำไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้น การส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากการที่การส่งออกสินค้าขั้นกลางถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดโดยประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่าไทยในแง่ของค่าแรง ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการส่งออกของไทยอาจถึงจุดอิ่มตัวและไปต่อไม่ได้

            อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกของไทยจะมีปัจจัยฉุดรั้งอยู่มาก แต่ไทยยังคงมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการค้าไทยและมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องปรับตัวกับภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีใหม่ๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นและดิสรัปชั่นต่างๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและใช้เทคโนโลยีดิจิตอลกับรถยนต์มากขึ้น


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม