ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยโดยรวมกำลังอยู่ในช่วงอิ่มตัว และมีบทบาทลดลงเรื่อยๆ ในห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในตลาดโลก แทนที่จะพยายามกลับไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านค่าแรงและผลิตภัณฑ์เดิมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเท่าที่ควร โดยอาจต่อยอดจากจุดแข็งและความพร้อมของไทยที่ยังคงเป็นฐานผลิตหลักของผลิตภัณฑ์ที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตในตลาดโลกอย่างรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่รถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า IoT ที่ต้องใช้ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในตลาดโลก
การลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะได้รับแรงหนุนสำคัญจากค่ายรถที่ต้องลงทุนตามเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนไฟฟ้า ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า IoT น่าจะได้รับแรงหนุนจากความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่ และศักยภาพของไทยที่จะหนุนให้เกิดบริการดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับเครื่องใช้ไฟฟ้า IoT
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่การลงทุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า IoT จะส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 0.2 ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าส่งออกส่วนเพิ่มราว 1,298 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น