Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤศจิกายน 2562

การค้า

ปลดล็อคขนส่งพรมแดนไทย-เมียนมา ... คาดยอดการค้าชายแดนกลับมาเร่งตัวในปี 2563 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3055)

คะแนนเฉลี่ย

​​         พัฒนาการระหว่างพรมแดนไทยกับเมียนมาในปีนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก ทั้งการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ที่บริเวณด่านแม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ช่วยบรรเทาความคับคั่งของการขนส่งที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 พร้อมทั้งมีแผนขยายเวลาเปิด-ปิดด่านให้เอื้อต่อการขนส่ง และการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา (Initial Implementation of Cross-Border Transport Facilitation Agreement: IICBTA) และบทเพิ่มเติม (Addendum) ที่เมียนมาขอเริ่มใช้กับไทยเป็นประเทศแรกเริ่มวันที่ 22 ตุลาคม 2562 บริเวณจุดเชื่อมต่อเมียวดี-ด่านแม่สอด จ.ตาก มีผลให้รถขนส่งที่ได้รับอนุญาตสามารถข้ามประเทศไปได้ลึกขึ้น มีเวลาอยู่ในแต่ละประเทศนานถึง 30 วัน กล่าวคือ รถบรรทุกเมียนมาสามารถขนสินค้าข้ามมายังด่านแม่สอดไปยังปลายทางได้ 2 ที่ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.กรุงเทพฯ และชายแดน จ.มุกดาหารของไทย ในทางกลับกันรถบรรทุกไทยสามารถขนสินค้าจากด่านแม่สอดไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa Special Economic Zone: SEZ)  กรุงย่างกุ้ง (จากเดิมไปได้แค่เมืองเมียวดี) สิ่งเหล่านี้ช่วยย่นระยะเวลาและลดต้นทุนค่าขนส่งให้แก่ธุรกิจไทย ทำให้การส่งออกผ่านชายแดนของไทยคล่องตัวขึ้นกว่าเดิม

          สำหรับโอกาสของสินค้าไทยจากอานิสงส์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจุบันสถานะการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดเมียนมาค่อนข้างดี  โดยสินค้าไทยที่ครองตลาดอย่างโดดเด่น ทั้งในแง่ของการขยายตลาดส่งออกหรือการเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนที่เมียนมาแทนการนำเข้าจากไทยก็ตามยังคงเป็นสินค้าเดิมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน มอเตอร์ไซค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ ขณะที่ก็ยังมีโอกาสในการส่งสินค้าอื่นไปตอบโจทย์ความต้องการของเมียนมาอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันอยู่บ้าง อาทิ ยารักษาโรค อาหารทารก และอาหารแปรรูปต่างๆ ขณะที่สินค้าขั้นกลางของไทยน่าจะเป็นดาวรุ่งใหม่ที่น่าจับตาและยังทิ้งห่างคู่แข่งอย่างจีน ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ เม็ดพลาสติก (เอธิลีน) กระดาษ ส่วนประกอบยานยนต์ ยางล้อ ขวดแก้ว และถุงพลาสติก เป็นต้น

         ​นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนที่เข้าไปในประเทศเมียนมาทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยผ่านชายแดนไทย-เมียนหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 โดยตลอดเวลา 9 เดือนแรกปี 2562 มีมูลค่าส่งออกราว 6.8 หมื่นล้านบาท ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 3.9 (YoY) และคาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่าใกล้เคียง 1.02 แสนล้านบาท หดตัวที่ราวร้อยละ 3.0 ในปี 2562 ขณะที่การอำนวยความสะดวกระหว่างชายแดนไทยกับเมียนมาบริเวณด่านแม่สอด จ.ตาก ดังกล่าวช่วยย่นระยะเวลาและลดต้นทุนค่าขนส่งให้แก่ธุรกิจไทย ขับเคลื่อนการส่งออกผ่านชายแดนของไทยในระยะข้างหน้าคล่องตัวขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลางรายการใหม่ของไทยจะกลายเป็นสินค้าดาวรุ่งเร่งในอนาคตตามการขยายตัวของการผลิตในเมียนมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ด้วยอานิสงส์ข้างต้นมีผลขับเคลื่อนการส่งออกของไทยผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก จะขยับสูงขึ้นเป็นมูลค่าใกล้เคียง 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 ขยายตัวเร่งขึ้นราวร้อยละ 14 อันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกชายแดนไทย-เมียนมาในภาพรวมปี 2563 ขยับขึ้นมาแตะ 1.05 ถึง 1.1 แสนล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0-8.0 หลังจากนั้นในปี 2564 การส่งออกผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก น่าจะแตะ 1 แสนล้านบาท


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม