เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาพำนักระยะยาว ประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน และสามารถขอต่อวีซ่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวมเป็นระยะเวลา 270 วัน โดยในเบื้องต้นจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคม 2563 นี้ โดยเบื้องต้นจะมีการกำหนดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสัปดาห์ละ 100-300 คน แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด เช่น การยินยอมกักตัวในห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และต้องผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวทางดังกล่าวนับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ปัจจุบันภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและแรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก จากรายได้ที่หดหายไป (การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสจากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 นี้ เป็นมูลค่าประมาณ 7.87 แสนล้านบาท) แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในแต่ละเดือนยังจำกัด แต่ก็ช่วยให้เกิดกิจกรรมหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยวได้บ้าง เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามรายละเอียดข้อกำหนด หลักการปฏิบัติและการกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สำหรับโครงการ STV ล่าสุดนี้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 และหากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาตามเป้าหมายก็อาจจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาท ซึ่งประมาณการภายใต้สมมติฐานที่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความพร้อมของทางการ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะเดินทางเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น