Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2563

ท่องเที่ยว

ต่างชาติเที่ยวไทยปี 2564: ยังจำกัด...หากสถานการณ์โควิด-19 และผลของการใช้วัคซีนคืบหน้า คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะมีสัญญาณดีขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3166)

คะแนนเฉลี่ย

​​​​​            ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2564 เริ่มมีข่าวเชิงบวกเมื่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลความคืบหน้ามากขึ้น และจะเริ่มมีการใช้วัคซีนกับประชาชนในหลายประเทศได้ประมาณปลายปี 2563 เป็นต้นไป ขณะที่ประเทศไทยก็ได้มีการลงนามจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าและคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการระบาดของโรคโควิดในระยะข้างหน้า

            อย่างไรก็ดีทิศทางของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2564 ยังอยูในระดับต่ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของตลาดท่องเที่ยวยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ และผลของการใช้วัคซีนป้องกันโควิดกับประชาชนในบางประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 4.5-7.0 ล้านคน ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.4-4.8 แสนล้านบาท

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการอาจจะพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม อาทิ การกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ เช่น การมีศูนย์ประสานงานในต่างประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลบนโลกออนไลน์ยังมีความสับสนในข้อมูลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย

             ​นอกจากนี้ การจัดแผนกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศอย่างเข้มข้น เช่น การเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการเพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น การนำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษี รวมถึงมาตรการทางการเงินในการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก และท่องเที่ยวชุมชน เช่น ปางช้าง บริษัทนาเที่ยว เป็นต้น ที่อยู่ในปลายห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านการเงินของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ภาครัฐและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการที่เฉพาะเจาะจงอย่างมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติม และการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับซื้อสินทรัพย์มาพักชั่วคราว (Asset Warehousing) เพื่อช่วยเหลือและประคองผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ท่องเที่ยว