Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤศจิกายน 2550

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การค้าไทย-ไต้หวันปี 2550: ส่งออกชะลอตัว...แข่งขันสูงจากจีน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2078)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกไทยไปไต้หวันอยู่ในภาวะที่น่าวิตก เนื่องจากภาคการส่งออกชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดได้แก่ กลุ่มสินค้าจำพวกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้า และ เคมีภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายทางการแข่งขันที่ดุเดือดจากจีน ส่งผลให้โครงสร้างการส่งออกไทยไปไต้หวันของสินค้ากลุ่มดังกล่าวเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้การชะลอตัวดังกล่าวนี้อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงในสายตาของผู้นำเข้าและความต้องการนำเข้าของไต้หวันต่อสินค้าบางประเภทชะลอตัวลงเช่น สินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและจักรกล อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกสินค้าบางประเภทของไทยไปไต้หวันและจีนโดยเฉพาะสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า การส่งออกของไทยไปยังไต้หวันที่ชะลอตัวลงส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการไต้หวันมีการโยกย้ายฐานประกอบการผลิตจากไทยไปยังจีน ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปจีนมีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าประเภทนี้จากไทยไปไต้หวัน ในขณะเดียวกันการส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยไปยังไต้หวันก็สะท้อนสัญญาณการชะลอตัว เนื่องจากการส่งออกของสินค้าประเภทนี้จากไทยไปยังไต้หวันและจีนล้วนชะลอตัวทั้งคู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากการแข่งขันที่เข้มข้นของจีนในการแย่งชิงตลาดส่งออกของสินค้าประเภทนี้ไปยังไต้หวัน ด้วยสาเหตุที่ว่าจีนมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้ประกอบการจากไต้หวัน รวมทั้ง ทั้งนี้จากภาวะการส่งออกของไทยไปยังไต้หวันที่ส่อสัญญาณน่ากังวลดังกล่าว ศูนวิจัยกสิกรไทยมีความเห็นดังนี้คือ:
ภาวะส่งออกไทยไปไต้หวันที่ชะลอตัวนี้เป็นเสมือนสัญญานเตือนให้ภาครัฐบาลเร่งตื่นตัวรับมือกับความท้าทายที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกันที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอาทิ ปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท ปัญหาต้นทุนด้านการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาการแข่งขันจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งรัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญโดยเข้ามาติดตามและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลควรให้การสนับสนุนด้านการผลิตโดยผลักดันให้มีการผลิตแบบครบวรจร สนันสนุนทุนด้านวิจัยและพัฒนาร่วมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อมาพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันให้สูงขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับปรุงโครงสร้างภาษีที่จำกัดขีดความสามารถด้านการส่งออกเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า ในระยะยาวจีนน่าจะมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อการค้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล อีกทั้งยิ่งสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่าจีนไม่เพียงแต่เป็นคู่แข่งทางการค้าที่น่าจับตามองของไทยเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันจีนยังเป็นประเทศคู่ค้าที่ควรให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงความสัมพันธ์การค้าซึ่งถือเป็นโอกาสขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือด้านการค้าไทยจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยเองในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ