Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ธันวาคม 2550

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนปี 2551 เน้นนำเข้า-บริโภค: ผลดีส่งออกไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2015)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2550-51 จีนยังคงเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในอัตราเลขสองหลัก การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายตัวทางการค้า การบริโภคและการลงทุน โดยการค้าระหว่างประเทศของจีนปัจจุบันเพิ่มขึ้นในอัตราสองเท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.5 คาดว่าตลอดทั้งปีจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25-30 โดยปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 3 ของไทย คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.5 จากอัตราร้อยละ 11.3 ในปี 2550 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะยังคงขยายตัวในอัตราสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นกอปรกับการขยายตัวของการบริโภคในจีนจะทำให้การนำเข้าสินค้าโดยรวมของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับปี 2550

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจปี 2550 ทั้งปีจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.4 เทียบกับร้อยละ 11.5 ในช่วง 9 เดือนแรก โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ๆ ยังมาจากการลงทุน การส่งออกและการบริโภค คาดว่าการลงทุนโดยรวมทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 24.8 โดยการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-12 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และการบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 11.9 การส่งออกทั้งปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 คิดเป็นมูลค่า 1,216 พันล้านดอลลาร์ การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เป็นมูลค่า 954 พันล้านดอลลาร์

เศรษฐกิจจีนในปี 2551 มีแนวโน้มเติบโตลดลงเหลืออัตราร้อยละ 10.5 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยืนราคาในระดับสูงจนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ อีกทั้งปัญหา Sub-prime ในสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคในสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย ปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากผู้ส่งออกสำคัญของโลกซึ่งรวมถึงจีนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเพิ่มในสินค้าอุตสาหกรรมของตน โดยขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงจนทำให้สินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนในการส่งออกสูงเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออกทั้งหมด ทำให้ผลกระทบต่อการหดตัวของอุปสงค์ในสินค้าทั่วไปมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระดับหนึ่ง ผู้ส่งออกจีนได้หาทางลดผลกระทบดังกล่าวโดยการขยายตลาดส่งออกไปยังสหภาพยุโรปซึ่งมีค่าเงินแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน ทำให้คาดว่าการส่งออกโดยรวมของจีนในปี 2551 จะขยายตัวในอัตราลดลงเล็กน้อยเหลือประมาณร้อยละ 20.6

แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่มุ่งเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น อีกทั้งค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นจะทำให้การนำเข้าของจีนยังคงเพิ่มขึ้น ไทยจึงมีโอกาสที่จะขยายการค้ากับจีนได้มากขึ้น โดยปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 ยอดส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.51 เป็นมูลค่า 11,921 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกไทยโดยรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 โดยสินค้าสำคัญหลายรายการมียอดส่งออกเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกสูงถึงราว 1 ใน 4 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปจีน มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 57.7 เป็นมูลค่าถึง 3,122 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงได้แก่สินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า (เพิ่มร้อยละ 61.8) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพิ่มร้อยละ 34.9) แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มร้อยละ 39.9) วงจรพิมพ์ (เพิ่มร้อยละ 31.5) ผลิตภัณฑ์ยาง (เพิ่มร้อยละ 29.7) เคมีภัณฑ์ (เพิ่มร้อยละ 25.7) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญบางรายการมียอดส่งออกลดลงหรือมีการชะลอตัวของการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 29.4) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 4.7) ยางพารา (เพิ่มร้อยละ 16 เทียบกับร้อยละ 66 ในปี 2549) ทองแดง (เพิ่มร้อยละ 13.7 เทียบกับร้อยละ 73.8 ในปี 2549)

ในด้านการนำเข้า ยอดนำเข้าของไทยจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 คิดเป็นมูลค่า 13,412 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นช้ากว่าการขยายตัวของสินค้าส่งออก โดยสินค้าหลักเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักทุกรายการ ยกเว้นเพียงเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 19.6 และการนำเข้าแผงวงจรไฟฟ้าก็ลดลงร้อยละ 17.3 เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนของไทยที่ชะลอตัวลงอย่างมากในปีนี้ จนเป็นเหตุให้การนำเข้าสินค้าทุนและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมบางประเภทลดลง ส่วนสินค้าที่มียอดนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงได้แก่สินค้าอุปโภคและบริโภค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (เพิ่มร้อยละ 94.5) ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง (เพิ่มร้อยละ 88.1) ของใช้เบ็ดเตล็ด (เพิ่มร้อยละ 41.8) ผักและผลไม้ (ร้อยละ 31.7) และสินค้าประเภทวัตถุดิบอุตสาหกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์โลหะ (เพิ่มร้อยละ 49.4) สินแร่โลหะ (ร้อยละ 36.3) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 30.3) เป็นต้น คาดว่าในปี 2551 การนำเข้าของไทยจากจีนจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าในปี 2550 เนื่องจากภาวะการลงทุนและการบริโภคในไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นทำให้ยอดนำเข้าสินค้าทุน (อาทิ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า) ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ